“ปรับมุมมองขยะ” ให้เป็นวัตถุดิบมากกว่าของเหลือทิ้ง แก้วิกฤติขยะทะเลไทย


จากสถานการณ์ที่มีการพบแพขยะพลาสติกยาวกว่า 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกเขตชายฝั่งจังหวัดชุมพร และการตายของวาฬนำร่องที่พบถุงพลาสติกถึง 85 ชิ้นในท้อง อีกทั้งยังมีกรณีเกาะสีชัง ที่เป็นตัวอย่างปัญหาของแหล่งขยะที่มาจากการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ปัญหา “ขยะทะเล” ได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมาตราการบริหารจัดการขยะทั้งบนบกและในทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับการตีพิมพ์งานวิจัยของ Jambeck ในวารสาร Science เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกที่ขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะทะเล แนวทางการป้องกันและแก้ไขสำหรับประเทศไทย ภายใต้โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ขยะทะเล ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกมีน้ำหนักเบาไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น ถูกกระแสน้ำและคลื่นลมพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุงพลาสติก ขวด ภาชนะใส่อาหาร และวัสดุที่ใช้สำหรับบรรจุหีบห่อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น สายรัด แผ่นพลาสติก เครื่องมือประมง เช่น แห อวน ลอบ เป็นต้น

ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์

ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ขยะทะเลมีทั้งขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว การทำประมง ภาคอุตสาหกรรม การเดินเรือพาณิชย์ รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยผิดกฎหมาย โดยแหล่งที่มาของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด และจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น และขยะพลาสติกที่พบในทะเล ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนบกถึงร้อยละ 80 ดังนั้น หากยังไม่รีบแก้ไข หรือป้องกันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งทำลายระบบนิเวศปะการัง การตายของสัตว์ทะเลหายาก อย่างเต่าและโลมา ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 เต่าและโลมา กลืนขยะไปถึงร้อยละ 2-3 บางตัวถูกอวนหรือเชือกรัดกว่าร้อยละ 20-40

ปัญหาขยะ

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ (การท่องเที่ยว) เรื่องของทัศนียภาพเสื่อมโทรมที่เกิดจากปัญหาขยะทะเล ปัญหาสุขภาพ และอาหารที่มีผลกระทบจากสารพิษ เนื่องจากพลาสติกสามารถถูกย่อยเป็นขนาดเล็กลงได้โดยแสงแดด (photodegradation) ทำให้สารเคมีบางชนิดที่เป็นพิษ ละลายไปในน้ำทะเล ขณะที่พลาสติกบางชนิดยังสามารถดูดซึมสารพิษเช่น PCB ที่อยู่ในน้ำทะเลสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้เมื่อถูกกินโดยสัตว์ รวมถึงนำไปสู่การเกิดปัญหาระหว่างประเทศเรื่องปัญหาขยะข้ามแดน

“ ดังนั้น การจัดการขยะทะเลต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทางคือ คน โดยต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชน และการปรับเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาขยะใหม่ ไม่ใช่แก้ด้วยการเก็บขยะแล้วนำไปรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปลี่ยนมุมมองของคนทิ้งขยะใหม่ ไม่มองขยะเป็นเพียงแค่ขยะหรือของเหลือทิ้ง แต่มองขยะให้เป็นวัตถุดิบ ให้การจัดการขยะเป็นเรื่องของ business model ทำให้เห็นประโยชน์จากขยะเหล่านี้มากกว่าการมองว่าเป็นปัญหา ยกตัวอย่างการจัดการขวดน้ำดื่มหนึ่งใบ ถ้าเรามองว่ามันเป็นขยะหลังดื่มน้ำเสร็จแล้วก็โยนทิ้งในถังขยะ เพียงแค่นี้ขวดน้ำดื่มนี้ก็กลายเป็นขยะแล้ว แต่ถ้าเราจัดการขวดน้ำดื่มด้วยการนำกลับไปรีไซเคิล ขวดน้ำดื่มนี้ก็จะกลายเป็นวัตถุดิบ ฉะนั้น อยู่ที่การบริหารจัดการของเราว่าจะให้เป็นขยะหรือให้เป็นวัตถุดิบ”

ขยะขวดพลาสติก

ปัจจุบันปัญหาขยะทะเล ถูกบรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เป้าหมายที่14 มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในเป้าประสงค์ที่ 14.1 การลดมลพิษทางทะเลรวมถึงขยะทะเล และจากข้อมูลสถานการณ์ขยะในประเทศไทย ใน ปี พ.ศ.2561 พบว่า คนไทยสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน คิดเป็น 76,360 ตัน/วัน ขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 27.82 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีถูกต้อง 10.88 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 39.1 ส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่มี 9.58 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.4 ขณะที่ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมีกว่า 7.36 ล้านตัน หรือร้อยละ 26.5 และยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวม โดยบริเวณที่พบขยะตกค้างพบมากที่สุดคือ ชายหาด ปะการัง และป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล และส่วนใหญ่พบเป็นถุงพลาสติก

เก็บขยะ

นอกจากนี้ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ยังพบว่า ระบบการจัดเก็บและรวบรวมขยะมูลฝอยไปสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของหน่วยงานท้องถิ่น อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเพียง 4,894 แห่ง หรือร้อยละ 63 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีถึง 2,881 แห่ง หรือร้อยละ 37 ที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวมและถูกนำไปกำจัด

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า เราทุกคนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดขยะและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากขยะ ดังนั้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะนั้นจึงเป็นเรื่องของทุกคน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาขยะจากบนบก เพื่อป้องกันไม่ให้ลงสู่ทะเล เริ่มตั้งแต่การจัดการขยะในครัวเรือน การปรับมุมมองเกี่ยวกับขยะจากวัตถุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตอื่นๆ มากกว่าถูกมองว่าเป็นขยะไร้ค่า และอาจให้รางวัลหรือมอบประกาศนียบัตรการจัดการขยะที่ดีให้แก่ที่พักอาศัย คอนโด หอพัก โดยใช้หลักการเดียวกับกรณีร้านค้า โรงแรม หรือโรงงานที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล และการนำแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน มาเป็นเครื่องมือประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันขยะทะเล เป็นต้น

คัดแยกขยะ

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อเกี่ยวกับสถานการ์ขยะทะเลฯ จากงานวิจัยนี้ มี 4 ประเด็น ได้แก่

  1. การป้องกันปัญหาขยะทะเลจากแหล่งกำเนิดขยะทั้งบนบกและในทะเล โดยการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดทั้งบนบก ในพื้นที่เกาะ และพื้นที่ชายฝั่ง ออกมาตรการให้ผู้ผลิต ลด เลิก ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิต การควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดขยะทะเล และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
  2. การแก้ไขสถานการณ์ขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก การรองรับและจัดการขยะจากกิจกรรมบนบกและในทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มบริการจัดเก็บขยะให้เข้าถึงทุกชุมชนอย่างสม่ำเสมอ การคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบ จัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะ หรือ ธนาคารขยะ
  3. การแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง พัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการติดตามเพื่อจัดการและจัดเก็บขยะในทะเล รวมทั้งแก้ไขปัญหา Microplastic และ Microbeat ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร และ
  4. กลไกภาพรวม โดยการกำหนดให้มีเขตบริหารจัดการทรัพยากรจังหวัดในทะเล และการวางแผนที่การใช้ประโยชน์ ที่มีกระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก การมี Business model เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการกับ Political economy รวมถึงการปรับปรุงกฏหมายในประเทศให้ทันสมัยและเอื้อต่อการบริหารจัดการขยะในระดับประเทศ

จัดการปัญหาขยะทะเล

“ การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ หากจัดการไม่ดีก็กลายเป็นขยะ ถ้าจัดการถูกก็กลายเป็นวัตถุดิบ เมื่อปัญหาขยะทะเลลดลง ชายหาดปลอดขยะ ทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ ก็จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะลทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การเป็นแหล่งอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง” ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลที่คุณอาจสนใจ


Source: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save