สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เสนอแนะ 7 แนวทางปลูกพืชผักบนพื้นที่สูงให้ได้คุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของการประกอบอาชีพปลูกพืชผัก เผยโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ปลูกพืชผักเป็นอาชีพมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในปีหนึ่ง ๆ มีผลิตผลที่ผ่านระบบบริหารจัดการด้านการตลาดรวมมากกว่า 25,552 ตัน มูลค่าประมาณ 646 ล้านบาท
วิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า ตามที่เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านการพัฒนา และ อิทธิพล โพธิ์ศรี นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชของเกษตรกรบนพื้นที่สูง พบว่าพื้นที่สูงของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือนั้นมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศต่างจากพื้นที่ราบเป็นอย่างมาก โดยเป็นเทือกเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500 ถึงมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีฝนตกชุก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประชาชนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ จึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยในอดีตดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และพืชผักท้องถิ่น เพื่อเป็นพืชอาหารเป็นหลัก ส่วนพืชรายได้มีน้อยมาก จึงเกิดปัญหาการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นพืชเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับคนทั้งโลก
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงก่อตั้ง“โครงการหลวง” เพื่อส่งเสริมให้คนบนพื้นที่สูงปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยพืชส่วนใหญ่ที่ปลูกทดแทนฝิ่นเป็นพืชเมืองหนาว หากปลูกพืชผักเขตร้อนจะไม่สามารถแข่งขันทางการตลาดกับพื้นที่ราบได้ แต่ในอดีตพืชผักเขตหนาวเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย เราขาดองค์ความรู้ว่าจะปลูกพืชผักอะไร วิธีการเพาะปลูกอย่างไร และยังไม่มีตลาด โครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้วิจัย ส่งเสริม และสร้างตลาด จนทุกวันนี้เป็นที่รู้จัก มีการปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ต่อมารัฐบาลได้ตั้ง สวพส. ขึ้นเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวง และขยายผลสำเร็จไปพัฒนาพื้นที่สูงต่าง ๆ ปัจจุบันพืชพันธุ์ใหม่ ๆ และวิธีการเพาะปลูกที่ประณีตและปลอดภัย ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมแก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง
พืชผักกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
พื้นที่สูงเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ แม้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 ชุมชน มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ยังต้องคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด และได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้พื้นที่และแรงงานจำนวนมาก ถึงจะมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นสาเหตุของการบุกรุกป่า เกิดการเผาและปัญหาหมอกควัน พืชผักจึงสามารถตอบโจทย์ได้ดี เพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงสามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้กว้างขวาง การเพาะปลูกไม่มีปัญหาการเผา สามารถให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่จำกัดและได้ตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อปลูกในระบบที่ประณีต จะยิ่งใช้พื้นที่และน้ำน้อยมาก ดังจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. หลายแห่ง เช่น น่าน เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ปรับระบบเกษตรเป็นพืชผักและพืชอื่น ๆ ที่เหมาะสมแล้ว สามารถลดการบุกรุกป่า และการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผลิตพืชผักคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับความยั่งยืนของการประกอบอาชีพปลูกพืชผักนั้น คุณภาพของผลผลิต และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการที่โครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ปลูกพืชผักเป็นอาชีพมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในปีหนึ่ง ๆ มีผลิตผลที่ผ่านระบบบริหารจัดการด้านการตลาดรวมมากกว่า 25,552 ตัน มูลค่า ประมาณ 646 ล้านบาท โดยมีหลักการและแนวทางที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักบนพื้นที่สูง ดังนี้
- การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแปลงของเกษตรกร บนพื้นที่สูงพื้นที่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงต้องวางแผนการใช้พื้นที่ให้มีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ตามความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ ควบคู่ไปกับการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
- การวางแผนการผลิตและตลาด ความสำเร็จของการทำการเกษตรคือเกษตรกรจะต้องสามารถขายผลผลิตได้และราคาเป็นธรรม การส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของสวพส. จะยึดหลักตลาดนำการผลิต หรือเป็นพืชหรือพันธุ์ใหม่ จะเริ่มส่งเสริมจากจำนวนที่ไม่มาก ควบคู่กับการสร้างตลาด สำหรับพืชผักเป็นพืชที่มีช่วงเวลาปลูกสั้น และต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้สัมพันธ์กัน
- การเพาะปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ พืชผักที่ปลูกภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งและเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะความตระหนักเรื่องสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน
- การเลือกพันธุ์และผลิตต้นกล้าแบบประณีต ความแม่นยำของปริมาณผลิตผลและช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ มาจากพื้นฐานสำคัญ คือ การผลิตต้นกล้าให้ได้ตรงตามพันธุ์ ปริมาณ และช่วงเวลา ซึ่งการผลิตต้นกล้าแบบประณีตในโรงเรือนเพาะกล้าโดยใช้วัสดุปลูกที่ดี ช่วยให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพ มีจำนวน และระยะเวลาที่แน่นอน รวมทั้งยังช่วยให้ใช้เมล็ดพืชผักพันธุ์ดีซึ่งมีราคาสูงได้อย่างคุ้มค่า
- โรงเรือน คือ หัวใจของคุณภาพและความปลอดภัย การปลูกผักในโรงเรือนช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนโดยเฉพาะบนพื้นที่สูง และยังใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการปลูกนอกโรงเรือนประมาณ 2-5 เท่า สามารถควบคุมการผลิตได้ค่อนข้างแม่นยำและผลผลิตมีคุณภาพดี ช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตมากถึง 30-50 % ลดการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ร้อยละ 100 ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้
- การปลูกและดูแลรักษาอย่างประณีต โดยเริ่มจากการปลูกในโรงเรือน ใช้ต้นกล้าที่คุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลูกอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ทุกต้นมีพื้นที่และได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ให้น้ำและปุ๋ยอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอด้วยการให้ปุ๋ยทางระบบการน้ำ และการดูแลและป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด สำหรับพืชผักใบส่วนใหญ่จะปลูกลงแปลง (ดิน) โดยตรง สำหรับผักผลบางชนิด เช่น พริกหวาน และมะเขือเทศ นิยมที่จะปลูกในวัสดุปลูก (Substrate Culture)
- การจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการตลาดที่ดี นอกจากการผลิตในแปลงปลูกอย่างประณีตและปลอดภัยแล้ว ต้องมีการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ดี ทั้งการรวบรวมและการคัดคุณภาพของผลิตผลให้เป็นไปตามที่กำหนด การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปสู่ตลาด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องทำอย่างประณีตและรวดเร็ว เพื่อให้ผลิตผลถึงตลาดและผู้บริโภคด้วยคุณภาพดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของผลผลิต โดยตรวจสารเคมีตกค้างทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น โรงคัดบรรจุ ห้องเย็น ห้องวิเคราะห์สารเคมี หรือรถขนส่งผลผลิต ซึ่งเกษตรกรควรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อให้รัฐสามารถให้สนับสนุนได้ง่าย รวมถึงการขอรับรองมาตรฐาน
“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความใส่ใจและห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ พืชผักจะเป็นอาหารอันดับแรก ๆ ที่มีความสำคัญ แต่เกษตรกรจะสามารถปลูกพืชผักเป็นอาชีพอย่างมั่นคงได้ ความปลอดภัยของผลิตผล และการเพาะปลูกแบบประณีต เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และความพร้อมสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมและจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฎและกติกาการค้าต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” วิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย