คณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เตรียมพิจารณาอนุมัติคัดเลือกเอกชนผู้จำหน่ายแอลเอ็นจี (LNG) 1.5 ล้านตัน ซึ่ง กฟผ. เปิดให้เอกชนยื่นแข่งขันเสนอราคาในระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 28 เมษายน ที่ผ่านมา และมีเอกชนยื่นแข่งขัน ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 12 ราย ซึ่งจากผลสรุปเบื้องต้น ทางคณะกรรมการได้คัดเลือก ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซียให้เป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยข้อเสนอราคาต่ำสุด ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
โดยสำหรับการยื่นแข่งขันเสนอราคาโควต้าก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) กฟผ. ในครั้งนี้ มีผู้ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 12 ราย ประกอบด้วย 1] เชฟรอน ยูเอสเอ อิงค์ 2] โททาล แก๊แอนเพาเวอร์ เอชียฯ 3] มารูเบนี คอร์ปอเรชั่น 4] Emirates National Oil Company (Singapore) Pricate 5] กาตาร์แก๊ส 6] JERA Co. Inc. 7] Pavilion Gas Pte.Ltd. 8] ปิโตรนาส แอลเอ็นจี 9] บมจ. ปตท. 10] เชลล์ อีสเทิร์น เทรดดิ้ง 11] บีพี สิงคโปร์ และ 12] Vitol Asia Pte. Ltd.
ทั้งนี้ แม้ ปตท. จะเป็น 1 ใน 12 รายที่เสนอตัวเข้าร่วมประมูล แต่คณะกรรมการฯ คัดเลือกให้ปิโตรนาส แอลเอ็นจี เป็นผู้ชนะ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ราคา เพื่อให้ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยราคาแอลเอ็นจีที่ต่ำสุดที่ ปตท. นำเข้าอยู่ที่ 8-9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องรอให้ทางบอร์ด กฟผ. เสนอผลคัดเลือกอย่างเป็นทางการมาก่อน โดยโจทย์หลักสำคัญคือต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องถูกลง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชน และเป็นไปตามนโยบายการแข่งขันการนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่ง กฟผ. จะเป็นผู้นำเข้ารายที่ 2 จากเดิมที่มีเพียง ปตท. นำเข้าเพียงรายเดียว โดยจะใช้สถานีมาบตาพุด จ.ระยอง ของ ปตท. เป็นสถานีแปรสภาพ และขนส่งผ่านท่อของ ปตท.
ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562 และจะเริ่มส่งมอบล็อตแรกได้ในเดือนกันยายนนี้ โดยสัญญปีแรก ส่งมอบ 280,000 ตัน จากนั้นในช่วงปี 2563-2569 จะเป็นการนำเข้าเต็มอัตราตามเงื่อนไขสัญญาระยะยาว 8 ปี โดย กฟผ. วางแผนจะนำ LNG ไปป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าวังน้อย จ. อยุธยา
ทั้งนี้การจัดหาก๊าซ LNG ตามโควต้าดังกล่าวของ กฟผ. เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำร่องทดสอบความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาล ที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท. (Third Party Access) เป็นทางเลือกการใช้พลังงานให้กับประเทศในต้นทุนต่ำต่อไป