กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ประจำปี 2561 โดยมีป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การนี้ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ตั้งแต่ปี 2551 มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาป่าและใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ส่วนสังคมและประเทศมีป่าเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งช่วยลดโลกร้อน ตลอดระยะเวลา 11 ปี ของโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ได้จัดกิจกรรมการประกวดป่าชุมชน เพื่อคัดสรรป่าชุมชนตัวอย่างที่มีการบริหารจัดการป่าแบบบูรณาการตั้งแต่การฟื้นฟู อนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ บนพื้นฐานของความพอเพียงและยั่งยืนโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน ซึ่งจะเป็นต้นแบบและสามารถขยายผลไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศได้
นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ป่าชุมชนเป็นกลไกสำคัญที่กรมป่าไม้ใช้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึง 40% ของทั้งประเทศ ในปี 2561 จำนวนป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เพิ่มขึ้นเป็น 11,246 ป่าชุมชน เป็นพื้นที่ป่ารวม 6,124,375 ล้านไร่ หรือประมาณ 5.9 % ของพื้นที่ป่าทั้งประเทศ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เพิ่มจำนวนป่าชุมชนใน 21,850 หมู่บ้านทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 19.1 ล้านไร่ และมั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ภายใต้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พุทธศักราช 2561 ที่เป็นกุญแจเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกันดูแลผืนป่าและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ร่วมกันอนุรักษ์ได้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงและเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ”
“กฎหมายป่าชุมชน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟูป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน เพราะป่าชุมชนจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่จะต้องดูแลรักษาฟื้นฟูให้สมบูรณ์คงอยู่ และพื้นที่ป่าใช้สอย ซึ่งชุมชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของชุมชนได้ รูปแบบนี้จะส่งผลให้ชุมชนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ชุมชนมีความสามัคคีและเป็นกำลังสำคัญในการรักษาผืนป่าให้เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ลดโลกร้อนที่เป็นต้นเหตุของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนเกิดภัยธรรมชาติของชุมชนและสังคมได้อย่างเข้มแข็ง”
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ถือเป็นโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR หลัก ของบริษัทฯ มุ่งหมายส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ผ่านการบริหารจัดการ ‘ป่าชุมชน’ อันเป็นกลไกที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการฟื้นฟู รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม
“จวบจนปัจจุบัน โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ได้ส่งเสริมชุมชนที่มีการบริหารจัดการป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วมและมีพัฒนาการโดดเด่น โดยประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเป็นป่าชุมชนต้นแบบรวมกว่า 1,500 แห่ง อีกทั้งยังเสริมหนุนการสร้างเครือข่ายทั้งคนรุ่นปัจจุบันและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมการสัมมนาผู้นำป่าชุมชน และค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม บริษัทฯ มีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเชื่อมั่นในแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของผืนป่าในรูปแบบของ ‘ป่าชุมชน’ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการป่าไม้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประชาชน-ภาครัฐ-เอกชน ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเป็นรูปธรรม เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งจากกระบวนการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และตอบสนองกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศในเป้าหมายที่ 12 ว่าด้วยการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก”
สำหรับการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” มีจำนวนป่าชุมชนที่เข้าร่วม 1,171 แห่ง ในจำนวนนี้มี 144 ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัล รวมพื้นที่ป่า 136,896.27 ไร่ ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 273,792.54 ตัน
ป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลป่าชุมชนรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลจำนวน 200,000 บาท ป่าแห่งนี้โดดเด่นจากการวางกลยุทธ์พลิกฟื้นผืนป่า ด้วยวิธี “ปิดป่า” ห้ามทุกคนเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าทุกรูปแบบเป็นเวลา 3 ปี เป็นการเยียวยาด้วยวิธีธรรมชาติจนกระทั่งผืนป่าคืนสู่สภาพสมบูรณ์อีกครั้ง ชุมชนได้รวมตัวกันยื่นขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน 2,720 ไร่ และปัจจุบันได้พึ่งพิงประโยชน์จากป่าชุมชน ช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือนจากการหาของป่าเพื่อบริโภค มีแหล่งต้นน้ำจนสามารถพัฒนาเป็นระบบประปาภูเขา หล่อเลี้ยงวิถีอาชีพทางการเกษตร
รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 100,000 บาท ได้แก่
– ป่าชุมชนบ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
– ป่าชุมชนบ้านปากหมัน หมู่ที่ 4 ตำบลปากหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
– ป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม ตำบลสหกรณ์คม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับรางวัลเฉพาะด้านในปีนี้ เน้นที่การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ป่าชุมชนบ้านภูเขาแก้ว หมู่ที่ 8 ตำบลเชียงเคี่ยน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 25,000 บาท ได้แก่
– ป่าชุมชนบ้านยางงอย หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 10 ตำบลศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
– ป่าชุมชนบ้านหนองบัว หมู่ที่ 1 ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
– ป่าชุมชนบ้านบนควน หมู่ที่ 6 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
นอกจากนี้รางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับภาค จำนวน 4 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 30,000 บาท รางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด จำนวน 66 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 25,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 66 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 10,000 บาท และเพื่อส่งเสริมและเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และเครือข่ายป่าชุมชนที่เข้มแข็ง โครงการได้มอบโล่รางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ป่าชุมชนในความรับผิดชอบได้รับรางวัลระดับประเทศและรางวัลดีเด่นเฉพาะด้าน และยังมอบให้แก่เครือข่ายป่าชุมชนต้นแบบ “กล้ายิ้ม” อีกด้วย