พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ที่ได้รับรางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2018
IEEE Power & Energy Society – Thailand ได้จัดงาน IEEE PES Dinner Talk 2018 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มากล่าวเปิดงาน และแสดงปาฐกถาหัวข้อ “มุมมองภาพพลังงานในอนาคต” โดยภายในงานยังได้จัดให้มีเสวนา หัวข้อเรื่อง “Disruptive Technology for Thailand Grid and Energy Supplies of the Future : พลิกโฉมธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานในอนาคต” และมีการมอบรางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2018 ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf หนึ่งในผู้ผลิตพลังงานชั้นนำของประเทศไทย
พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ เล่าถึงการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันว่า “กัลฟ์” จัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมผ่านรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ในปัจจุบัน เราบริหารและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง รวม 11,125.6 เมกะวัตต์ ในส่วนของแผนธุรกิจในปีนี้ จะมี 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือ โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว เราก็ต้องบริหารจัดการ ให้มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนที่สอง คือ โรงไฟฟ้าที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ในปี 2562 นี้จะมีโครงการที่เราก่อสร้างอยู่ที่เมืองไทยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 4 โครงการ และจะมีอีก 2 โครงการที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ส่วนที่สาม คือ โครงการใหม่ๆ ซึ่งจะต้องไปดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan หรือ PDP) ฉบับใหม่ ที่กำลังออกมาว่าจะเป็นอย่างไร จะให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรงไหน ซึ่งถ้าภาครัฐมีการเปิดให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม เราก็พร้อมที่จะเข้าไป
ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดในการบริหารองค์กรในเรื่องการบริหารองค์กร
ในส่วนของกัลฟ์เอง เราทำงานโครงการเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องของทีมเวิร์ค ที่ทุกอย่างต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน เพราะฉะนั้นการที่จะให้บริษัทเดินหน้าไปได้ ก็คือต้องทำให้องค์กรมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความยากจะอยู่ตรงที่การที่เรามีคนหลายเจเนอเรชั่นมาทำงานอยู่ด้วยกัน ซึ่งเราก็ต้องบริหารให้เขาทำงานร่วมกันได้ ปัจจุบันนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานเยอะ การมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ตายตัว จะไม่สอดคล้องกับการบริหารงานในยุคใหม่ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ เราจะบริหารงานแบบให้มีความยืดหยุ่นได้ โดยจะดูกันที่ผลงานเป็นหลัก
ที่นี่เราอยู่กันอย่างพี่น้องมากกว่า เพราะว่าเราโตมาจากบริษัทเล็กๆ เราทำงานกันเหมือนพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แล้วก็คุยกันบ่อยๆ และสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ได้ก็คือเรื่องการทำงานเป็นทีม และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะถ้าไม่มีทีมเวิร์คแล้วจะทำโครงการอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
มุมมองในด้านวิศวกรรมและธุรกิจพลังงานในอนาคต
ตอนนี้ทุกธุรกิจก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ในส่วนของธุรกิจพลังงานเองก็เช่นเดียวกัน ในช่วงหลังๆ นี้ จะยากลำบากกว่าในช่วงต้น เพราะมีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงแรกๆ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีอาจจะเป็นไปค่อนข้างช้า การผลิตไฟฟ้าจะใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก โรงไฟฟ้าที่สร้างจะมีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง จึงมีผู้เล่นน้อย แต่ในช่วง 5-10 ปีหลัง เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเข้ามามากขึ้น เราก็ต้องปรับตัวให้ทัน เพราะนอกจากเรื่องของต้นทุนแล้ว ปัจจุบันเรามองในเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ถ้าดูตามแนวโน้มตามเทรนด์ของโลก ตอนนี้ทุกคนก็พยายามจะลดก๊าซคาร์บอนออกไซด์ ฉะนั้นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะเริ่มน้อยลง ในขณะที่พลังงานทางเลือก อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแบตเตอรี่ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลและสิ่งที่จะทำต่อไป
พรทิพา กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award ในครั้งนี้ว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ การเป็นผู้หญิงที่มาทำงานตรงนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเกินไป เพราะมีความเคยชินมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ในสมัยก่อนผู้หญิงที่อยู่ในแวดวงวิศวกรรมอาจจะน้อย ในรุ่นที่เรียนจบมา 200 คน มีผู้หญิงแค่ 7 คน ที่เลือกเรียนวิศวกรรมเพราะชอบคำนวณ ตอนนั้นคิดว่าหากเรียนวิศวฯ จะไม่ต้องท่องตำรามาก เพราะใช้การคำนวณมากกว่า ก็เลยคิดว่าเหมาะกับเรา เพราะฉะนั้นการที่ผู้หญิงได้มาอยู่ในธุรกิจนี้แล้วประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง และคิดว่าในอนาคตก็จะมีผู้หญิงขึ้นมาอยู่จุดนี้มากขึ้น
“ในส่วนที่เราอยู่ในธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค สิ่งที่พอจะทำได้ คือ การพยายามลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ก็จะมีกิจกรรม CSR ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าเราตั้งอยู่เท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่อื่นๆ กิจกรรมหลักๆ ที่เราสนับสนุนจะเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและการศึกษา ช่วงหลังๆ มีกิจกรรมทางด้านกีฬาบ้าง ซึ่งเราจะเน้นให้ความรู้กับเยาวชนที่มีความสนใจทางด้านกีฬาฟุตบอล เพื่อที่จะให้เขามีทักษะ และอาจพัฒนาเป็นอาชีพต่อไปได้” พรทิพา กล่าว
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ SPECIAL Interview โดย กองบรรณาธิการ