หากถามถึงพลังงานทดแทน ที่ถือเป็นกำลังหลักในการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีกำลังผลิตเป็นลำดับต้นๆ ของพลังงานทดแทน และยังเป็นที่ถามถึงของแวดวงอุตสาหกรรม โรงงาน ผู้ประกอบการ และในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ที่ได้เริ่มทยอยนำมาใช้ในครัวเรือนเพื่อผลิตพลังงานบ้างแล้วนั้น
คำตอบ ณ วันนี้ ก็คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่เป็นเทรนด์ด้านพลังงานทดแทน ซึ่งจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และในไม่ช้าไม่นานนี้ หากเทคโนโลยียังถูกพัฒนาต่อเนื่อง เชื่อว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นที่เข้าถึงได้สำหรับในภาคธุรกิจ และครัวเรือนไทย
งานของรัฐบาล คสช. ที่ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ส่งเสริมการผลิตพลังงานจากพลังงานทดแทนมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ได้มีโครงการหนึ่งซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญ นั่นคือ การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ที่มีวัตถุประสงค์หลัก นำเอา พื้นที่ที่อยู่ในราชพัสดุ จากหน่วยงานราชการที่จะเข้าร่วมโครงการเป็นผู้ครอบครองและได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์มาใช้ประโยชน์ในโครงการนี้
รวมทั้งที่ดินของสหกรณ์ภาคการเกษตรเป็นเจ้าของหรือที่ดินที่สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายเพื่อใช้ดำเนินโครงการ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาวได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรดังกล่าว ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวมทั้งสิ้น 800 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุนอายุสัญญา 25 ปี รับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งเบื้องต้นการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา
พบว่าผลการรับซื้อไฟฟ้าในโครงการฯ ระยะที่ 1 จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้ว 64 ราย คิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้า 271.82 เมกะวัตต์
ปัจจุบันการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ให้ทันภายในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จำนวน 35 ราย หรือคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้าที่รวม
ทุกพื้นที่ รวม 154.52 เมกะวัตต์ แบ่งประเภทและเป้าหมายการจัดหาตามพื้นที่
สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกฯ เป็นโครงการจากหน่วยงานราชการ ได้แก่ องค์การ ที่รัฐจัดตั้งขึ้น (ไม่รวมองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ) จำนวน 11 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 52.52 เมกะวัตต์ และโครงการจากสหกรณ์ภาคการเกษตร (สหกรณ์ภาคการเกษตร/สหกรณ์นิคม/สหกรณ์ประมง) จำนวน 24 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 102 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ยังได้มีแนวทางส่งเสริมให้ส่วนราชการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ผ่านโครงการที่สำคัญๆ อาทิ โครงการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ คาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 46.94 ล้านหน่วยต่อปี โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานราชการติดตั้งระบบ และคาดว่าจะลดการใช้พลังงานได้ 224.58 ล้านหน่วยต่อปี และโครงการส่งเสริมการจัดการพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งคาดว่าโรงพยาบาลในระบบที่เข้าร่วมจะลดใช้พลังงานได้ 154.32 ล้านหน่วยต่อปี
การส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน รัฐบาลต้องการมุ่งเน้นลดรายจ่ายด้านพลังงาน เร่งใช้พลังงานที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา รวมทั้งยังให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งคือมิติใหม่แห่งการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ลดการนำเข้าพลังงาน และช่วยให้การผลิตและใช้พลังงานมีความมั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต