หากมีใครถามว่าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เมืองไทยมีอะไรให้ลงทุนไหม? คงมีคำตอบมากมายหลายคำตอบ รวมทั้งคำตอบว่า “รอนโยบายรัฐมนตรีใหม่”
และหากมีใครถามว่า กองทุนมากมายปีละนับหมื่นล้านของกระทรวงพลังงานทำไมเข้าถึงยาก ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร เป็นเบี้ยหัวแตก หรือ ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้าหรือเปล่า คำตอบเดิมคือ “รอนโยบายรัฐมนตรีใหม่”
ขอเริ่มต้นด้วยแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน/ทดแทน ที่ทางสองกรมใหญ่ สนพ. และ พพ. ช่วยกันบรรจงร่างให้ตรงเป้าหมายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ คือ 30% ฟังดูค่อนข้างมาก แต่ทำไมธุรกิจพลังงานทดแทนรู้สึกว่า ถดถอย ไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเท่าที่ควร จึงอยากให้ท่านผู้อ่านลองศึกษาว่า 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ประกาศไว้นั้น เป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพียง 7.05% เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) 4.24% และอีก 18.86% เป็นเรื่องของการผลิตความร้อน ซึ่งตรวจวัดได้ยาก แต่มีการใช้อยู่แล้วในภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องมีการอุดหนุนใดๆ จากภาครัฐ
ในขณะนี้มีการขายไฟไม่ถึง 7% ของโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ยังสร้างความรํ่ารวยจนเกิดมหาเศรษฐีในเมืองไทยขึ้นหลายราย คงต้องมีการศึกษาวิจัยว่าพลังงานทดแทนมีผลในการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากน้อยเพียงใด เมืองไทยจะได้พ้นจากคำว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” เสียที
เรื่องของพลังงาน มีความหมายสมบูรณ์ในตัว ไม่ใช่แค่ปัจจัยที่ 5 พลังงาน เป็นทั้งสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน เป็นธุรกิจ เป็นการลงทุน เป็นเทคโนโลยี เป็นสัมปทาน เป็นชนวนให้เกิดสงคราม และเป็นพลังอำนาจในตัวเอง ประเทศไทยก็เช่นกัน กระทรวงพลังงานกว่าจะได้เสนาบดี ก็ต้องเสียเวลากันเป็นเดือนทีเดียว คนส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกมักจะคิดว่าคือไฟฟ้า แท้ที่จริงแล้วแผนพลังงานทดแทน มีสัดส่วนที่เป็นพลังงานไฟฟ้าเพียง 7.05% จากเป้าหมายพลังงานทดแทนรวมของประเทศ 30% โดยให้ความสำคัญด้านการผลิตความร้อนมากที่สุดถึง 18.86% และด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เอทานอล-ไบโอดีเซลอีก 4.24% จะเหมาะสมหรือไม่ประการใด คงต้องฟังความรอบด้าน แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบันนี้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทย เกินกว่าความจำเป็นมากแล้ว และที่แปลกแต่จริงก็คือ รัฐบาลยังคงรับซื้อไฟฟ้าจากฟอสซิลที่ราคาแพงกว่าชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลปัจจุบันก็ขายไฟแบบ Firm เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าฟอสซิล
อะไรจะถูก อะไรจะผิด คงต้องเก็บไว้เป็นการบ้านท่านรัฐมนตรี ยุคมีประชาธิปไตย (อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้) ขอเพิ่มเติมเรื่องที่น่าสนใจที่ชาวพลังงานและชาวบ้านถูกเก็บภาษี อันเนื่องมาจากขายไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้า และใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงนั่นก็คืองบประมาณของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ทั้งที่จัดเก็บจากผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้จำหน่ายไฟฟ้า ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพตามสมควร เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีจิตสำนึกว่า นี่เงินประชาชน ไม่ใช่ของ กกพ. อำนวยความสะดวกอย่างดี เข้าถึงง่ายแม้จะเข้มงวด ความครบถ้วนและความสมบูรณ์ของเอกสารมากเกินไป โดยขาดการคำนึงถึง Output – Outcome ตามแนวทางของสำนักงบประมาณ แต่ถ้ามองภาพรวมก็สอบผ่าน
สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีละกว่าหมื่นล้านบาทคงต้องหาผู้บริหารมืออาชีพมาช่วย เนื่องจากผู้เสียภาษีเข้ากองทุนบ่นกันมาก (จากองค์กรภาครัฐ) เริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนที่แสนยาก หลายๆ องค์กรต้องว่าจ้างที่ปรึกษามาช่วย แต่ก็ยังไม่ได้งานโดยไม่ทราบเหตุผล การติดต่อก็แสนยากลำบาก นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวว่า 3 จังหวัดภาคใต้ หลอดไฟล้นแล้ว ขอเป็นอุปกรณ์อื่นๆ บ้าง เรื่องดีๆ ของกองทุนหมื่นล้านก็มี เช่น โครงการสูบนํ้าด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ชาวบ้านฝากขอบคุณกระทรวงพลังงานมา ณ ที่นี้ด้วย
เรียนท่านรัฐมนตรีฯ พลังงานจากฟอสซิล อาจสร้างความรํ่ารวยให้ภาคเอกชนไม่กี่กลุ่ม และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรที่ภาครัฐถือหุ้นเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ แต่สำหรับพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนแลว้ ควรมีนโยบายกระจายผู้ลงทุนไปสู่ท้องถิ่น ชุมชนหรือผู้นำในแต่ละจังหวัด เพื่อเสริมแกร่งให้กับชุมชน ไม่กระจุกตัวอยูแค่บริษัทใหญ่ ๆ อีกทั้งควรมีนโยบายไม่ให้ภาครัฐเข้ามาแข่งขันกับภาคเอกชนด้านพลังงานทดแทน … วันนี้ภาคเอกชน เทคโนโลยีพร้อม เงินทุนพร้อม รัฐจึงควรมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนและกำกับในบางกรณี … เท่านั้น พลังงานไทยจะก้าวไกล … มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 94 กรกฎาคม-สิงหาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Focus โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข