ไม่ว่าคุณจะถูกจัดอันดับให้เป็นอภิมหาเศรษฐีของโลก หรือเป็นกลุ่มผู้ยากจนพิเศษที่รัฐต้องเลี้ยงดู ก็ล้วนอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน และสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ก็ล้วนต้องพึ่งพาดวงอาทิตย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดวงอาทิตย์นอกจากจะช่วยให้โลกเรามีแสงสว่าง มีกลางวัน กลางคืน มีน้ำขึ้นน้ำลงแล้ว พลังงานทุกชนิดบนโลกใบนี้ที่เราใช้อยู่ล้วนมาจากดวงอาทิตย์ คนไทยนิยมเรียกดวงอาทิตย์ว่า ดวงตะวัน และยังได้เปรียบเปรยผู้มีอำนาจว่าดั่งดวงตะวันอีกด้วย
มนุษย์ได้นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้พลังงานโดยตรง ได้แก่ การผลิตน้ำร้อน หรือพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้พลังงานทางอ้อม เช่น พลังงานลม พลังงานคลื่น นอกจากนี้แล้ว มนุษย์ยังสามารถแปลงพลังงานจากการดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์โดยพืชด้วยการสังเคราะห์แสงมาใช้ โดยใช้เทคโนโยลีด้านการหมักแบบไร้อากาศและการเผา เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล
ทุกวันนี้แม้แต่เด็กอนุบาลก็ยังรู้จักพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ในชื่อของ “ไฟจากฟ้า” เนื่องจากประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงาน โดยใช้ดาราชื่อดังมานำเสนอนับว่าได้ผลเป็นอย่างดี เรามาทำความรู้จักกับไฟจากฟ้า หรือพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้กันอยู่ 3 เทคโนโลยี คือ
- โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Solar Cells) เป็นช่องสี่เหลี่ยมตัดมุม เรียงต่อกัน ผลิตจากซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์สูง ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงประมาณ 17%-20% มีความทนทานใช้ได้นานมากกว่า 25 ปี
- โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Solar Cells) มีคุณภาพรองลงมาจากแผงโมโน ใช้ซิลิคอนอัดรวมกันเป็นแผง ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงประมาณ 15%-19% อายุการใช้งานประมาณ 20 ปี
- อมอร์ฟัส (Amorphous Solar Cells) แผงแบบนี้ไม่ได้ใช้ซิลิคอนผลิต แต่เป็นการใช้ Thin Film Technology เคลือบสารที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าได้ไว้บนแผงมีราคาถูกที่สุด และสามารถทำงานได้แม้จะอยู่ในที่แสงน้อย รวมถึงการเคลือบสารบนพลาสติกได้ นำไปปรับใช้กับพื้นที่ที่มีความโค้งมนได้
ปัจจุบันนี้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีความคล่องตัว จนภาครัฐไม่จำเป็นต้องอุดหนุนด้านงบประมาณ แต่สำหรับภาคเกษตรกรรมแล้ว ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐจะต้องสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซลาร์เซลล์สูบน้ำบาดาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทุกจังหวัด โดยการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเก็บจากภาษีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของพวกเรานั่นเอง กองทุนนี้มีทุกปี ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่นำไปช่วยภารกิจอื่นๆ และขอฟันธงเลยว่า การใช้กองทุนที่ได้ผลและเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือ โซลาร์เซลล์สูบน้ำบาดาลสำหรับภาคเกษตรกรรม
Solar Floating อีกหนึ่งพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ที่น่าสนใจ เนื่องจากเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตทุ่นลอยน้ำเป็นวัสดถที่ผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ โซลาร์ลอยน้ำยังไม่ต้องใช้พื้นที่บนบก ซึ่งเหมาะกับภาคเกษตรกรรมมากกว่าการใช้ผลิตไฟฟ้า ขอยกตัวอย่าง โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำงานร่วมกันระหว่างพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (กลางวัน) และพลังงานจากน้ำในเขื่อน (กลางคืน) ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) แผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิด Double Glass ทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย มูลค่าการลงทุน 842 ล้านบาท สามารถลด CO2 ได้ถึง 47,000 ตันต่อปี ที่สำคัญคือ โซลาร์ลอยน้ำนี้จะเริ่มผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ. 2564 และเนรมิตจังหวัดอุบลราชธานีให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดเช็คอิน เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ภาคอีสานไม่เคยมีมาก่อน
พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์นั้นดีและมีคุณค่าในตัวเอง โดยไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะเข้าไปอุดหนุน ควรปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ ภาคเอกชนพร้อมลงทุนในทุกรูปแบบ ส่วนภาครัฐก็ควรใช้พลังงานอันยิ่งใหญ่หาที่เปรียบไม่ได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยเศรษฐกิจฐานราก สมคำกล่าว Energy for All
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 104 มีนาคม-เมษายน 2564 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข