ในที่ยุคมนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดแบบฟุ่มเฟือย จนเกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก ซ้ำร้ายยังต้องเผชิญหน้ากับอุณหภูมิโลกร้อน ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งทำให้วิกฤติสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลง จึงมีการพูดถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy ) มาใช้ในการเยียวยารักษาโลก โดยการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่เพื่อรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ
ประเทศไทยหลายองค์กรตื่นตัวหาโซลูชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรผ่านกระบวน การใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริง ล่าสุด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตร เปิดเวที “GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together” งานประชุมนานาชาติภายใต้แนวคิด Circular in Action โดยมีผู้นำทางความคิดทางด้าน Circular Economy กว่า 40 คน ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์เพื่อนำจุดเด่นขององค์กรมาพัฒนากระบวนรีไซเคิลให้เป็นโอกาสของการเข้าถึงผลิตภัณฑ์รักษ์โลกระดับสากล
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จากัด (มหาชน) หรือ GC ย้ำเป้าหมายว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติได้จริง ต้องมาจาก 4 ปัจจัย คือ 1) Thought Leader ผู้นำความคิด นวัตกรและนักธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้เพื่อขับเคลื่อนโลกร่วมกัน 2) Innovation นวัตกรรมจะช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ มีสินค้าที่ผลิตด้วยแนวคิด Circular Economy ออกมาได้จริง 3) Business Model การออกแบบธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ 4) Ecosystem การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ผ่านการนำนวัตกรรมและแพลตฟอร์ม การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืน ดังนั้นกลยุทธ์การทำงาน GC ได้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่เน้นให้ความยั่งยืนโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตอนนี้กำลังทำ คือ ความพยายามสร้างให้ครบวงจนตั้งแต่การแยก การเก็บ โลจิสติกส์ และการนำกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติก ที่สำคัญต้องทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
ด้านคุณปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า GC มีเป้าหมายที่ที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) จำนวน 150,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 20 % ภายในปี 2030 มาสู่พลาสติกที่มีมูลค่าสูง โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงการ Reuse น้ำในกระบวนการผลิต ที่มีความต้องการใช้น้ำเป็นจำนวนมากสูงถึง 150,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยใช้กระบวนการรีไซเคิลน้ำผ่านระบบการกรองน้ำ R.O. (Reverse Osmosis) ทำให้สามารถลดการใช้น้ำจากระบบสาธารณะน้อยลง ถึง 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
การสร้างวงจรระบบรีไซเคิลให้สมบูรณ์แบบสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องสร้างระบบการบริหารจัดการการคัดแยกขยะในทิศทางเดียวกัน เช่น กำหนดสีถังขยะ ประเภทขยะที่ต้องคัดแยก จุดรวมขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ และระบบการจัดเก็บที่ได้มาตรฐานก่อนนำเข้าสู่การรีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันยังไม่เข้าใจในระบบและทำได้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆที่สามารถขับเคลื่อนกลไกลรีไซเคิลให้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งการสนับสนุนของภาครัฐ และการสร้าง Value Credit ให้กับผู้ประกอบการ
เช่นเดียวกับทาง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายธีรพงศ์ จันศิริ, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน เป็นกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้แรงงานเยอะมาก รวมถึงรายได้มาจากการส่งออกไปต่างประเทศเป็นสำคัญ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการดำเนินการในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และแรงงานมาโดยตลอด เพื่อให้เป็นไปมาตรฐาน รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เรือประมงทุกลำที่เป็นคู่ค้า มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องกฎหมาย และวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างความน่าเชื่อถือ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค จะต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่าเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน