ทีมแผนงานวิจัยเข็มมุ่ง ด้านการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน คณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แนะ EEC รับมือกับน้ำล่วงหน้า ดังเช่นปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พร้อมเสนอให้มีมาตรการเสริมเพิ่มเติมจากแผนแม่บท จัดตั้งองค์กรเฉพาะเพื่อการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนใน EEC ตั้งเป้าขยายผลการบริหารจัดการน้ำใน 4 เขื่อนหลัก และขยายงานโครงการชลประทานในแผนวิจัยปี 2
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่ง ด้านการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน คณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า จากแนวคิดการพัฒนาเทคนิคและระบบใหม่ให้เชื่อมโยงกับระบบวางแผนและบริหารน้ำในปัจจุบัน โดยเลือกประเด็นสำคัญมาพัฒนาเทคนิคเพื่อนำกลับเข้าไป ใส่ในระบบที่มีอยู่ด้วยเทคนิคใหม่ได้ ตลอดจนพัฒนาการเชื่อมโยงของระบบและทดลองการรันคู่ขนานกับระบบปัจจุบันเพื่อการทดสอบได้ ซึ่งในปีแรกเป็นการวิจัยพัฒนาต้นแบบ ปีที่ 2 ประยุกต์ใช้ร่วมกับ หน่วยงานปฏิบัติ และปีที่ 3 วิจัยเสริมพร้อมถ่ายทอดผลงานวิจัยให้กับหน่วยงานปฏิบัติต่อไป
ผลการวิเคราะห์สภาพน้ำในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก (EEC) พบว่ามีโอกาสเกิดภาวะแล้งเช่นปี พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะ เมื่อมีโครงการพัฒนาเพิ่มขึ้นและสภาพภาวะอากาศสุดโต่งเกิดขึ้น การนำน้ำจากภาคกลางไปช่วยจะทำได้ยากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพิ่มจากแผนแม่บทของพื้นที่ EEC ทั้งด้านจัดหา เก็บกัก บริหารน้ำ การจัดการความขัดแย้งและการจัดการน้ำด้านอุปสงค์เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายในอนาคต การขยายผลการจัดการน้ำด้านอุปสงค์ต้องการกติกา กฎระเบียบรองรับ เพื่อให้ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนอย่างมี มาตรฐาน โดยเริ่มจากโครงการใหม่และโครงการขนาดใหญ่ที่พร้อมจะ ลงทุน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนที่จำเป็น มีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการประหยัดน้ำและการใช้น้ำซ้ำให้ผู้ประกอบการเห็นเป็นตัวอย่าง และอบรมผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาต่อไป
“คณะวิจัยเห็นว่าควรกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้าน การบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนในเขต EEC เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์รวมที่ครอบคลุมทั้งน้ำต้นทุนและ การใช้น้ำทุกภาคส่วน โดยมีหน้าที่เบื้องต้นในการกำหนดกติกาการใช้น้ำ การจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ การเตรียมแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงขอบข่ายและความทับซ้อนอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561” รศ. ดร.สุจริต กล่าว
นอกจากนี้ยังควรศึกษารูปแบบต่างๆ ด้านการเงินสำหรับโครงการ ด้านน้ำ เริ่มจากการศึกษาและประเมินสถานะการลงทุนที่มีอยู่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ระบุช่องว่างการลงทุนและการจัดหาเงินทุน เพื่อจัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการด้านน้ำเพื่อ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพและสามารถดึงดูด นักลงทุนได้ เช่น พื้นที่ EEC และในเขตเมือง ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนสูง และเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ผลการวิจัยได้นำไปสู่ข้อเสนอแนะการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดองค์กรเฉพาะขึ้นในอนาคต สำหรับพื้นที่ EEC รวมทั้งเผยแพร่และชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำตะวันออก สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของ สนทช. ต่อไป
รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่า สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการเขื่อนภูมิพล พบว่า ชุดต้นแบบ ชุดโปรแกรมการจำลองการปล่อยน้ำ ช่วยให้ตัดสินใจปล่อยน้ำได้ อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการเพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนตามเป้าหมายของงานวิจัย หลังการเรียนรู้ข้อมูลในอดีต 10 ปีย้อนหลังมาใช้ในการปล่อยน้ำช่วงฤดูฝน ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่แล้ง เทียบกับ การปล่อยน้ำตามเกณฑ์ที่มีอยู่ พบว่าสามารถเสนอค่าปริมาณการปล่อยน้ำที่เพิ่มเติมได้เทียบกับวิธีการที่ใช้อยู่ นอกจากนี้ยังพัฒนา แบบจำลองและติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำบาดาล อัตโนมัติ เพื่อติดตามสถานการณ์การใช้น้ำบาดาลในพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน และศักยภาพที่มี พร้อมกับถ่ายทอดให้กับผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยต่อไป ขณะที่ “ท่อทองแดงโมเดล” สามารถสรุปแนวปฏิบัติและบทเรียนปรับปรุงการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำให้พูดภาษาเดียวกันได้บนฐานของข้อมูลและความเข้าใจกันมากขึ้น
งานวิจัยทำให้เห็นโอกาสในการบริหารน้ำที่ลดความสูญเสียเนื่องจากมีการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคใหม่ และมีระบบจัดการข้อมูลที่ทันกาลมากขึ้น การทดลองในพื้นที่นำร่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งกับนักวิจัย ผู้ปฏิบัติ และผู้ใช้น้ำ ทำให้มีความเข้าใจและการมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งนี้ การบริหารน้ำ ในเขื่อนจะขยายผลให้ครอบคลุม 4 เขื่อนหลักของภาคกลางตอนล่าง และขยายการทำนายฝนจาก 14 วัน เป็นฤดูกาลเพื่อให้บริหารจัดการน้ำล่วงหน้าได้ดีขึ้น โดยจะทำงานร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทาน รวมถึงขยายพื้นที่การบริหารน้ำในโครงการชลประทานให้ครอบคลุมทั้งโครงการชลประทานท่อทองแดงในระยะที่ 2 เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการนำเทคโนโลยีและการสื่อสาร มาใช้ในโครงการชลประทานอื่นต่อไป” รศ. ดร.สุจริต กล่าว
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 103 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 คอลัมน์ In Trend โดย กองบรรณาธิการ