ปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2018 จีนมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 170 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่า 30 กิกะวัตต์จากปี 2017 และมีแผนจะเพิ่มเป็น 400 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 แต่อย่างไรก็ตาม มลภาวะหมอกควันและมลพิษทางอากาศที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในประเทศแห่งนี้ ไม่เพียงสร้างปัญหาด้านสุขภาพสำหรับผู้อยู่อาศัยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังปิดกั้นแสงแดดที่เพียงพอไม่ให้ไปถึงแผงรับแสงอาทิตย์ด้วย
การศึกษาวิจัยใหม่ โดยนำข้อมูลรังสีดวงอาทิตย์จาก 119 สถานีทั่วประเทศจีน นับตั้งแต่ปี 1960-2015 มาวิเคราะห์ พบว่าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงมากถึง 15% อันมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์โดยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหิน และฟอสซิล ซึ่งรวมถึงควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่มีปริมาณมหาศาล ส่งผลให้ประชาชนชาวจีนกว่า 38% ต้องเผชิญกับระดับมลพิษทางอากาศที่เลวร้าย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันรายต่อปี
นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อย่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย เนื่องจากฝุ่นละออง และการเปลี่ยนแปลงของเมฆที่ปกคลุม ทำให้รังสีแสงอาทิตย์มีปริมาณลดลง เซลล์แสงอาทิตย์ได้รับแสงไม่เพียงพอ ทำให้ศักยภาพในการผลิตพลังงานของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลดลง
ซึ่งปัจจุบันทำให้จีนหันมาริเริ่มดำเนินการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด ข่าวดีก็คือหากประเทศแห่งนี้ สามารถลดระดับมลพิษทางอากาศลงได้ในระดับที่มีอยู่ในช่วงทศวรรษ 1960 จะทำให้ปริมาณแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นได้ 12-13% ซึ่งจะนำไปสู่กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในปี 2016 ตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Source: ข่าว
www.newscientist.com/article/2208943-cleaning-up-chinas-dirty-air-would-give-solar-energy-a-huge-boost/
www.interestingengineering.com/chinas-air-pollution-is-so-bad-its-blocking-its-solar-panels