ม.มหิดล เตรียมปรับโฉม “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” สู่พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ และการเรียนรู้อย่างยั่งยืน


เมื่อนึกถึง “อุทยาน” จะนึกถึง “ธรรมชาติ” ที่ร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่โลกในศตวรรษที่ 21 การทำอุทยานให้เป็นเพียง “แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ” อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มีแผนจะยกระดับขึ้นเป็น “สถาบัน” มีฐานะเทียบเท่าส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีภารกิจครอบคลุมทั้งในเรื่องการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ ซึ่งจะไม่ได้เป็นเพียง “สวนพฤกษศาสตร์” เท่านั้น แต่จะเป็นพื้นที่แห่งการรวบรวมและสร้าง “ปัญญาของแผ่นดิน” สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ที่หลากหลายและเชื่อมโยงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ

ต้นทุนเดิมที่ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีอยู่ คือ การเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชสมุนไพรที่หาได้ยากมากที่สุดในประเทศไทย 900 กว่าชนิด บนพื้นที่ 140 ไร่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แต่โจทย์ที่ท้าทายยิ่งกว่า คือ จะทำอย่างไรให้พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่นี้เกิดคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจได้สูงสุด บนพื้นฐานความร่วมมือในการสร้าง “ปัญญาของแผ่นดิน”

การจะยกระดับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันทรงคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นทางการออกแบบ จนถึงปลายทางการสร้างมูลค่า และการนำพาคุณค่าร่วมกัน

สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในการปรับโฉมโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งสำคัญนี้ ได้แก่ การเปิดตัวสู่การเป็นพื้นที่ “ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)” โดยมี “ผู้จ้างงานบัณฑิต” จากภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันสร้างบัณฑิตที่มี “ทักษะอันพึงประสงค์” (Literacy) ตั้งแต่ต้นทาง

โดยจะเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้เข้ามาด้วยคำถาม และกลับออกไปด้วยคำตอบพร้อมคำถามใหม่ที่อยากจะกลับเข้ามาหาคำตอบในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งฝึกให้นักศึกษาเรียนรู้การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Changemaker) เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย กับชุมชนและสังคม

นอกจากนี้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จะถูกปรับโฉมเพิ่มเติมให้เป็น “พื้นที่ธรรมชาติบำบัด” ซึ่งใช้ธรรมชาติในการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพใจให้สมดุล สร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วย และผู้ด้อยโอกาส

โดยบริเวณลานคนพิการ ณ อาคารใบไม้ใบเดียวของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีการออกแบบสวนในรูปแบบของ “Sensory Garden” เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า (สัมผัส กลิ่น รส เสียง และ การมองเห็น) ซึ่งจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ

จุดมุ่งหมายสูงสูด คือ การทำให้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กลายเป็น “ศูนย์รวมแห่งการสร้างปัญญาของแผ่นดิน” ที่จะสร้างและนำพาประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save