ยานยนต์ไฟฟ้ามีความปลอดภัยเพียงใด


Open Forum: เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า EP 1: ความปลอดภัย เป็นโครงการที่จัดขึ้น เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ในเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องและแง่มุมต่างๆ ของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า สร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สนใจ โดยเริ่มต้นจากเรื่องของความปลอดภัยที่เป็นปัญหาค้างคาใจ เช่น เกิดการชนกันของรถที่ไม่มีคนขับ เสียบปลั๊กรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านแล้วเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล จึงควรจะนำเรื่องดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

วันชัย มีศิริ บริษัท ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท วีร่าออโตโมทีฟ จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจค่อนข้างสูง ปัจจุบันในประเทศไทยมีรถ BEV (Battery Electric Vehicle) จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2560 แล้วจำนวน 82 คัน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้า 100% ส่วนของ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จะมีอยู่ประมาณ 8,000-9,000 คัน แต่กฎหมายไทยรวมรถที่เป็น Hybrid เติมน้ำมัน 100% กับ PHEV เข้าด้วยกัน จดทะเบียนไปแล้ว 100,000 คัน จึงทำให้ไม่มีข้อมูลที่แยกระหว่าง PHEV กับรถที่ใช้น้ำมัน ฉะนั้นประเมินว่าในประเทศไทยตอนนี้มี PHEV ไม่เกิน 10,000 คัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก

ธิบดี หาญประเสริฐ รองประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้ามาแน่ แต่มาด้วยบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ 3 เดือน 6 เดือน ฉะนั้น การจะจับธุรกิจต้องดูจังหวะให้ดี อย่างเช่น ในไม่ช้าฟิล์มกรองแสงรถยนต์จะถูกแทนที่ด้วยกระจกไฟฟ้า ก็จะทำให้เกิดผลกระทบ ต่อธุรกิจฟิล์มติดรถยนต์ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ให้โอกาสใครก็ตามในการปรับตัว ฉะนั้น การติดตาม การประเมิน ต้องมองอนาคต มองเทรนด์ของโลก รวมถึงจังหวะและบริบทของประเทศไทยว่าอยู่ในตำแหน่งไหน และมองถึงจุดแข็งจุดอ่อน

อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่า หากเราเป็นคนสังคมเมือง แล้วต้องเผชิญท่ามกลางกลุ่มหมอกควันรถยนต์ ซึ่งถ้ามีทางเลือกที่ไม่ได้ล้ำลึก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วบนโลกนี้ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดขึ้นกับเรา มีคำถามตั้งว่า “ประเทศไทยเราพร้อมหรือยัง ต้องใช้เวลาเมื่อไรถึงสามารถที่จะมีการนำรถไฟฟ้ามาใช้งานได้ในประเทศ” แต่คำตอบของคำถามไม่น่าจะเกิดขึ้นโดยใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องส่วนตัวของทุกคนที่จะต้องหาคำตอบว่าเราต้องการอะไร เราอยากเห็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ลูกหลานมีอากาศที่ดีขึ้น มีการบริหารจัดการพลังงานที่ดีขึ้น นั่นคือ การตอบคำถาม

ดร.อมรรัตน์ แก้วประดับ เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า ข้อดีของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในส่วนของมลภาวะและพลังงาน หากต้องการจะลดมลภาวะ ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยในส่วนของการลดมลพิษของเมืองใหญ่ อีกทั้งทั่วโลกมีนโยบายในการใช้รถไฟฟ้าเพื่อช่วยลดมลพิษ กอปรกับยานยนต์ไฟฟ้ายังช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน จากงานวิจัยยังได้ยันยืนว่า รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน มีการใช้พลังงานประมาณ 1.5-2.5 บาทต่อกิโลเมตร หากเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า จะมีการมีใช้พลังงานลดลงเหลือเพียง 0.5-1.5 บาทต่อกิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับขนาดของกำลังรถ แรงม้า และจากข้อดีทางด้านมลภาวะและการประหยัดพลังงาน สร้างความจูงใจในการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่เมืองหลวง รถโดยสารขนาดใหญ่มีความเหมาะสมเป็นอย่างมากที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า แม้ยานยนต์ไฟฟ้าก็ยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ ราคายังแพงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน 2-3 เท่า แต่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุนในเรื่องของ BOI การลดภาษี รวมไปถึงเรื่องของโครงการสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2579 นั้น แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยเฉพาะการไฟฟ้านครหลวง

จุมภฏ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. มีการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบไฟฟ้าและความปลอดภัยรองรับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในบ้านเรา การเริ่มจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ผ่านการทดลองตั้งสถานีชาร์จ และทดลองใช้รถไฟฟ้าจริง โดยได้นำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดลอง ได้แก่ Mitsubishi, Nissan Leaf และ BYD พร้อมทั้งติดตั้งสถานีชาร์จแบบ Normal Charge และ Quick Charge เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่นอน จากการศึกษาและใช้งานจริงมา 5-6 ปี รวมทั้งการติดตั้ง สถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ กฟน. ยืนยันได้ว่าพลังงานไฟฟ้ามีความพอเพียงสำหรับความต้องการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลและการศึกษาของ สนพ. กระทรวงพลังงาน ที่ประมาณการว่ารถยนต์ภายในปี พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า ประมาณ 1.2 ล้านคัน ส่วนในเรื่องของความปลอดภัย รถยนต์ไฟฟ้าจะมาพร้อมกับสายชาร์จ โดยทั่วไปสายชาร์จจะมีขนาด 3.3-3.5 กิโลวัตต์ จากการศึกษาข้อมูลการชาร์จแบบ Normal Charge ตามบ้าน กินไฟเท่ากับเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง ประมาณ 13-16 แอมป์ ชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมง จะกินไฟ คงที่ต่อเนื่อง ประมาณ 10 แอมป์ ฉะนั้นจึงไม่ควรจะใช้กับวงจรไฟปกติ แต่จะต้องติดตั้งวงจรเฉพาะ ไม่ฉะนั้นอาจจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นได้

สำหรับสายชาร์จที่แถมมากับรถไฟฟ้า มีปลั๊กเสียบเข้ากับเต้าเสียบที่บ้าน แต่ในมาตรฐานจะไว้ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉิน (Emergency charge) ซึ่งหากนำมาชาร์จในบ้านก็ต้องใช้ปลั๊กพ่วง ซึ่งการชาร์จทิ้งไว้นานๆ ก็จะเป็นอันตรายเกิดเพลิงไหม้ได้ และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคเอง
ควรศึกษาระบบยานยนต์ไฟฟ้าให้เข้าใจ และควรให้ผู้ชำนาญการให้คำแนะนำเรื่องการติดตั้งจุดชาร์จไฟเพื่อความปลอดภัย

สมเดช แสงสุรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญ/ประธานอนุกรรมการวิชาการยานยนต์ไฟฟ้า สมอ. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า พื้นฐานของมาตรฐานหลักๆ จะประกาศเรื่องของความปลอดภัย มาตรฐานที่แต่ละประเทศยอมให้บังคับอิงพื้นฐานความปลอดภัยก่อนเสมอ สำหรับ Mode ในการชาร์จรถไฟฟ้า ในมาตรฐานระบุไว้ อยู่ใน มอก.61851-1 : 6.2 Mode ส่วนของ Mode 1 จะเป็นการเสียบโดยตรง ด้านหนึ่งเสียบเข้าบ้านอีกด้าน
เสียบเข้ารถ ไม่มีวงจรป้องกัน ซึ่งหลายประเทศประกาศห้ามใช้รวมทั้งประเทศไทย ในขณะที่ Mode 2 ความปลอดภัยยอมรับได้มากขึ้น รวมถึงเรื่องของพลังงานก็จะมากขึ้น โดยจะมีกล่องตรงกลางควบคุมการจ่ายไฟ เป็น Mode ที่ใช้สำหรับในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ด้านที่ติดกับรถจะเป็นเต้าเสียบของรถ ตรงกลางจะมีกล่องควบคุมคอยตัดไฟ กล่องดังกล่าวจะบังคับว่ากินไฟได้กี่แอมป์ ส่วนด้านที่เสียบกับเต้าเสียบบ้าน ใน มอก. ระบุชัดเจนว่าต้องเป็น เต้าเสียบแบบ มอก.166 ซึ่งเป็นขาเสียบที่แข็งแรงและปลอดภัย และกล่องควบคุมตรงกลางนั้น มอก. ได้ระบุว่า ห้ามเกิน 8 แอมป์ เนื่องจากไม่ได้ต้องการให้ใช้อันนี้เป็นหลักจะใช้เพียงกรณีฉุกเฉิน หากจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักต้องเป็นตู้ ที่เรียกว่า Mode 3 แล้วต่อวงจรเข้าวงจรไฟฟ้าต่างหาก ซึ่งเป็นกรณีที่ใช้ไฟ Normal, Charge Quick Charge ที่เป็น AC และ 3 เฟส ส่วน Mode 4 เป็นเรื่องของการจ่าย DC ซึ่งจ่ายกระแสมาก โดยหลักๆ จะใช้ตามที่สาธารณะ

มานิตย์ กู้ธนพัฒน์ สภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดสาขาเพิ่ม มีวิศวกรสาขาที่ไม่ควบคุมเพิ่มเติมอีก 17 สาขา ซึ่งมีวิศวกรรมยานยนต์อยู่นั้นด้วย เราเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ และที่ผ่านมาหลายมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตด้านยานยนต์มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่นั่นเพื่ออุตสาหกรรม
ยานยนต์ เพราะฉะนั้นสถาบันการศึกษาต้องมีการปรับวิธีการผลิตบัณฑิตเพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าว เปลี่ยนจากเทคนิค
ยานยนต์หรือวิศวกรรมยานยนต์ โดยเพิ่มเรื่องของไฟฟ้าเข้าไปในวิศวกรรมยานยนต์ ซึ่งอาจจะแยกต่างหากจากเครื่องกลออกไป

เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตในประเทศไทย ฉะนั้นความต้องการทางด้านบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงเปลี่ยนผ่าน จะมีนักศึกษากำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่ต้องการความรู้ทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อให้ทำงานกับอุตสาหกรรมได้ และรวมถึงความเข้าใจที่ทางภาคประชาชน ได้ส่งเสริมให้มีความเข้าใจเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

จากการเสวนาครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหมายรวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าด้วย ทั้งความเพียงพอของพลังงานไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า รวมถึงมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทำให้ทราบว่ายานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยที่ต้องเรียนรู้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save