วันก่อนผมไปงานเลี้ยง เจอเพื่อนที่เป็นวิศวกรใหญ่ของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ก็ได้คุยกัน
เพื่อน : ‘เมื่อวานไปดูเขาประกวดราคารถไฟฟ้ากัน’
ผม : ‘กี่ตังค์เหรอ แพงไหม’
เพื่อน : ‘สี่หมื่นกว่าล้าน’
ผม : ‘รถไฟฟ้าอะไรกันแพงขนาดนั้น ของจีนเดี๋ยวนี้ตกคันละ 4 ซ้า 5 แสนเอง นี่พูดเรื่องอะไรกันเนี่ย’
ที่คุยกันข้างบนนั้นเป็นเหตุการณ์สมมุติ แต่ความเข้าใจผิดกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะสองคนมีคำจำกัดความของรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในหัวไม่เหมือนกัน คนหนึ่งพูดเรื่อง Electric Train แต่อีกคนกำลังนึกถึง Electric Car และด้วยความที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งโครงการขนาดยักษ์ที่เกี่ยวกับทั้ง Electric Train และ High Speed Train ซึ่งเป็นโครงการที่รวมๆ กันแล้วมีราคาเหยียบล้านล้านบาท ถ้าปล่อยให้ความเข้าใจไม่ตรงกันนี้เกิดขึ้นในคนที่เกี่ยวข้อง โครงการหลายแสนล้านบาทนี้จะมีปัญหาได้เมื่อเกิดเหตุต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ยังจำกันได้ใช่ไหมครับที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยถูกให้ออกเพราะการตีความรูปศัพท์การทำอาหารตามที่ราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติไว้
เรามาลองดูซิว่า ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำว่า รถ รถยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า ไว้อย่างไร
รถ คือ ยานที่มีล้อสำหรับเคลื่อนไป เช่น รถกระบะ รถจักรยาน รถตีนตะขาบ รถบดถนน รถประจำทาง รถพยาบาล รถไฟ รถม้า รถยนต์ รถสองแถว เรียกได้ว่าคำว่ารถนี้ครอบคลุมยานพาหนะทุกชนิดที่มีล้อและเคลื่อนไปได้ ไม่ว่าจะมีเครื่องยนต์หรือไม่มี รถยนต์ คือ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วย เครื่องยนต์ ตามปกติมี 4 ล้อ (โดยมีเครื่องยนต์เป็นส่วนสำคัญ)
รถไฟ คือ รถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาว ขับเคลื่อนโดยมีหัวรถจักรลาก ให้แล่นไปตามราง
รถไฟฟ้า คือ รถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาว โดยขับเคลื่อนด้วย ไฟฟ้า แล่นไปตามราง (โดยมีไฟฟ้าเป็นคำสำคัญ)
คำสุดท้ายนี้แหละที่เป็นปัญหา แต่ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น เหมือนกับที่พูดกันว่าจะไปขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานี BTS ซอยอารี โดยคนพูดและคนฟังเข้าใจตรงกันว่ากำลังพูดถึง ‘รถไฟ’ หรือรถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาว ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ไฟฟ้า’ ไม่ใช่ ‘รถ’ ใดๆ ก็ได้ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและไม่ต้องวิ่งไปบนรางตามรูปศัพท์ตรงตัวของ ‘รถไฟฟ้า’ ที่ไม่ใช่ตามที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติไว้
อ่านแล้วงง ใช่ไหมครับ
ดังนั้นถ้าจะไม่ให้สับสนและไม่เป็นปัญหากับโครงการหลายแสนล้านของประเทศ รัฐบาลต้องเร่งทำความเข้าใจในเชิงวิศวกรรม
ที่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปเร็วกว่าอัตราเร็วของการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสภา โดยบัญญัติเสียให้ถูกต้อง คือถูกต้องทั้งทาง
วิศวกรรมศาสตร์และทางภาษาศาสตร์ ผมที่เป็นเพียงอาจารย์สอนทางวิศวกรรมศาสตร์ และไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น ขออาสาหาญกล้ามาเสนอคำศัพท์พวกนี้ ให้เกิดความกระจ่างขึ้น ดังนี้
ถ้าเราต้องการหมายถึงรถไฟ ที่ขับเคลื่อนด้วย ไฟฟ้า เราก็กำลังพูดถึง Electric Train ฉะนั้นคำที่ถูกต้องต้องเป็น ‘รถไฟไฟฟ้า’
ส่วนถ้าเราหมายถึงรถเมล์ ที่วิ่งได้ด้วย พลังไฟฟ้า เราก็ต้องใช้คำว่า รถประจำทางไฟฟ้า ซึ่งตรงกับคำว่า Electric Bus
แต่ถ้าเราใช้คำว่า รถยนต์ไฟฟ้า คำนี้ น่าจะตรงกับรถที่เป็นแบบไฮบริด หรือ Hybrid Car หรือรถพันทาง คือ ใช้ทั้งเครื่องยนต์ และ
มอเตอร์ ไฟฟ้า ในการขับเคลื่อน สลับกันไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ตรงกับความเข้าใจที่พวกเรามีกันอยู่ในปัจจุบันทุกคนที่มักนึกไปถึงคำว่า Electric Car สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีก็ได้ล้ำหน้าไปแล้ว เราจึงมีหน้าที่ที่ต้องปรับความเข้าใจไปให้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ทั้งสังคมวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์บริสุทธิ์
หากถ้ามองได้ทะลุแบบนี้ คำว่า ‘รถไฟฟ้า’ โดยรูปศัพท์จึงเป็นคำรวมๆ ซึ่งจะเป็นรถจักรยานไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊ก ตุ๊กไฟฟ้า ฯลฯ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วคำว่า Electric Car จะใช้คำไทยว่าอะไร หากใช้คำว่ารถไฟฟ้าไม่ได้ ผมก็อยากจะเสนอทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งไม่ถูกต้องนักในทางรากศัพท์ คือ ให้เราใช้คำว่า รถไฟฟ้า กับ Electric Car นี่แหละ ด้วยเหตุผลของความเคยชินที่เป็นที่ยอมรับกันไปแล้วว่า ‘รถ’ ในที่นี้หมายถึง ‘car’ เท่านั้น ซึ่งแน่ละ อาจจะมีคนเห็นแย้ง แต่ก็ไม่แปลกอะไร เพราะเรากำลังถกกันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย
ยังมีอีกคำหนึ่งครับที่สับสนมาก คือคำว่า Electric Vehicle หรือ EV ที่หลายคนชอบเรียกว่า รถไฟฟ้า คำไทยคำนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะโดรนก็เป็น EV เรือก็เป็น EV ได้ เครื่องบินสมัยนี้ก็เป็นแบบ EV กันแล้ว ถ้างั้นจะเรียก EV ว่าอะไร คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมโยธาของราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดให้ใช้คำว่า ‘ยานพาหนะไฟฟ้า’ ครับ คือยานพาหนะ (vehicle) ใดๆ ก็ได้ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อนส่วนถ้าจะให้เรียกง่ายๆ จำได้ไม่ยาก ผมเสนอเรียก ‘อีวี’ เลย ง่ายดี สั้นดี แต่มีบางกลุ่มโดยเฉพาะสื่อมวลชนบางคนเรียกว่า ‘รถอีวี’ อันนี้ผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ