ทีมกรุ๊ป เผยปรากฏการณ์ ลานีญา ปี’64 ทำให้ฝนทิ้งช่วง แนะเตรียมรับมือน้ำหลาก


“ทีมกรุ๊ป” คาดการณ์ฤดูฝนประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564 เริ่มกลางเดือนพฤษภาคม เตือนฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง-อีสานใต้และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ย้ำยังไม่พบสัญญาณน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยเหมือนปี พ.ศ. 2554

เขื่อนที่ช่วยบรรเทาน้ำท่วมลุ่มน้ำภาคเหนือ

ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ กล่าวถึงการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำฝนในปี พ.ศ. 2564 ว่า จากปรากฏการณ์ลานีญา จะเกิดฝนตกหนัก-ลมกระโชกแรง-ลูกเห็บตก จากอิทธิพลพายุฤดูร้อนตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งส่งผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะมีฝนตกชุกต่อเนื่อง และมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นช่วงปลายเดือน แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง มีผลกระทบต่อภาค การเกษตรนอกเขตชลประทาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ฝนจะเริ่มกลับมาชุก และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ตั้งแต่จังหวัดสุโขทัยลงมาจนถึงจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ ซึ่งไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเพียงแค่พื้นที่แก้มลิงหนองหลวง จังหวัดสุโขทัยและแก้มลิงบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งรองรับน้ำ ซึ่งมีขนาดไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณน้ำฝนตกพื้นที่ท้ายเขื่อน และจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย พิจิตรและนครสวรรค์ เป็นประจำทุกปี

ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้จัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงหนองหลวง จังหวัดสุโขทัย และแก้มลิงบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ไว้รับมวลน้ำหลาก ลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและแหล่งเศรษฐกิจจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามรูปแบบโครงการบางระกำโมเดล ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระยะเวลาปลูกข้าวให้เร็วขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคมและปรับพื้นที่ให้เป็นทุ่งรับน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำยมได้

ขณะที่พื้นที่น้ำปิงมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก พื้นที่ลำน้ำวัง มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง พื้นที่ลำน้ำน่านมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำและระบายน้ำให้เหมาะสมตามสภาวการณ์ของปริมาณน้ำ ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ที่ช่วยบรรเทาน้ำท่วมที่เกิดจากลุ่มน้ำภาคเหนือได้

ชวลิต จันทรรัตน์
ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ

ในเดือนกันยายนและตุลาคม ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน และหากมีพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทร แปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ พัดผ่านเข้า มาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลักษณะพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2562 พายุโซนร้อนวิภา พายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ที่เคลื่อนผ่านภาคอีสาน ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ฤทธิ์ของพายุทำให้ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน น้ำท่วมฉับพลันและทะลักเข้าท่วมบ้าน เรือนประชาชน พื้นที่เกษตรจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2564 ก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นเดียวกัน เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเหมือนปีที่ผ่านมา

สำหรับพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดอ่อนที่จะเกิดน้ำท่วม ชาวบ้านริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่องและมวลน้ำหลากจากภาคเหนือตลอดเดือนตุลาคมอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ช่วงปลายฤดูฝน จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จะเกิดน้ำท่วมจากการระบายน้ำฝนที่ตกหนักนานติด กันหลายชั่วโมงลงสู่คลองและทะเลไม่ทัน จังหวัดเพชรบุรี อำเภอปราณบุรี และอำเภอบางสะพาน ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์น้ำจะหลากท่วมพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม น้ำอาจจะท่วมส่งท้ายปีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ปรากฏการณ์ ลานีญา

“จากการประมวลวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำปี พ.ศ. 2564 แม้ฝนจะมาเร็ว และคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงก่อนมรสุมจะมีฝนตกมาก แต่ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ คล้ายกับปี พ.ศ. 2554 ประกอบกับความสามารถของอ่างเก็บน้ำเขื่อนใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำอยู่น้อย สามารถรองรับน้ำได้มากกว่าปี พ.ศ. 2554 ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 มีน้ำรวมกัน 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งเท่านั้น และสภาพพื้นที่รับน้ำก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก” ชวลิต กล่าว

จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม 2564

อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำ เตรียมแผนรับมือน้ำหลากในฤดูฝนปี พ.ศ. 2564 ติดตามสภาพอากาศ และประเมินแนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และแผนการฟื้นฟูเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 105 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564 คอลัมน์ In Trend โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save