เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ได้จับมือกับพันธมิตร 11 องค์กร จัดงานเสวนาเพื่อช่วยกันระดมสมอง สะท้อนความคิด นโยบายสิ่งแวดล้อมเมืองผ่านงานวิจัย เพื่อส่งต่อให้กับว่าที่ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การเสวนาในหัวข้อ ประชุมระดมสมอง สะท้อนความคิด นโยบายสิ่งแวดล้อมเมือง ผ่านงานวิจัย เพื่อส่งต่อให้กับว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นี้ทาง วช. ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักเรียนเก่า เอไอที ประเทศไทย วิทยาลัยการพลังงานรุ่นที่ 3 บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และมูลนิธิอารยะสถาปัตย์ เพื่อระดมสมอง สะท้อนความคิด นโยบายสิ่งแวดล้อมเมือง ผ่านงานวิจัย ส่งต่อไปยังว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งเพื่อให้ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพื่อบรรจุไว้ในนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
ภายในงานเสวนา ทาง วช. ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้นำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเมือง ผ่านงานวิจัย เพื่อส่งต่อ (ว่าที่) ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หลายท่าน
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธ์ศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานวิจัยแห่งชาติ นำเสนอประเด็นหลักจากงานวิจัยเชิงนโยบาย โดยกล่าวว่า การบริหารจัดการมหานคร นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ มหานครที่ต้องปลอดจากมลพิษ อาชญากรรม ยาเสพติด และอุบัติเหตุ และต้องเป็นมหานครที่เป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวที่ไม่มีขีดจำกัด และปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนก็คือปัญหาจราจร รถติด น้ำท่วม ปัญหามลพิษ ปัญหาอาชญากรรม ซึ่งอันดับที่ 1 คือปัญหาของการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ เนื่องจากสภาพท้องถนนไม่เหมาะกับการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ดังนั้นผู้ว่ากรุงเทพมหานครจะต้องเป็นคนที่เป็นมืออาชีพ ทำงานต่อเนื่อง มุ่งมั่น มือสะอาด ทำงานเป็นทีม ประสานทุกทิศ มีการจัดการการหางบประมาณได้ดี เพื่อที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหาในกรุงเทพมหานครที่กำลังเผชิญอยู่ใน ณ ตอนนี้
ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตและผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อเติมประเด็น “Smart City” โดยกล่าวว่า เราต้องการผู้ว่าที่มีสายตากว้างไกล มองอะไรเป็นระบบระเบียบมีการแก้ไขจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่ต้องมีการเก็บข้อมูลหรือที่เรียกว่า Big Data และเราต้องการให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสวนาหัวข้อ “เมืองก้าวหน้า” โดยกล่าวว่า ปัญหาของกรุงเทพฯ นั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของขยะ รถติด น้ำเน่าเสีย และปัญหาย่อยๆอีกหลายปัญหา การที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ จะเข้ามาแก้ไขและพัฒนานั้นต้องมีนโยบายในการแก้ไข และกรุงเทพฯ ควรที่จะเป็น BANGKOK AS A HAPPY & RESILIENT CITY และควรที่จะสร้าง GOVERNOR DASHBOARD ที่จะเป็นตัววัดคุณภาพของเมือง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเศรษฐกิจ ประชากร น้ำ พลังงาน ทุกอย่างจะอยู่บน DASHBOARD ก็จะทำให้ GOVERNOR สามารถทราบได้เลยว่าเมืองของเราในส่วนตรงไหนกำลังมีปัญหา นี้ก็จะทำให้เมืองของเราสามารถเป็นเมือง HAPPY & RESILIENT CITY ได้ในอนาคต
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร นายกสมาคมนักเรียนเก่า เอไอที ประเทศไทย เสวนาในหัวข้อ “เมืองแห่ง Smart Energy” กล่าวว่า เรื่องพลังงานและเรื่องสังคมเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ประเด็นคือคนที่อยู่สังคมเมืองจะมีการใช้พลังงานสูงและสิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นตามด้วย ดังนั้นว่าที่ผู้ว่าของกรุงเทพฯ จะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้ในอนาคต และพร้อมสนับสนุนให้เมืองของเราเป็น Smart Infrastructure ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกับ Smart City โดยต้องอาศัยการวางแผนที่ดี และเป็นระบบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบอินเทอร์เน็ต หรือตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ นั้นก็คือเรื่องสายไฟที่นำลงสู่ใต้ดิน ทำให้เป็นเมืองที่สวยงามและดูปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีมกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เสวนาหัวข้อ “น้ำท่วมและการรระบายน้ำ” กล่าวว่า ไทยติดอันดับที่ 7 ของโลกในปี 2562 ในการสร้างขยะพลาสติก 1.0 ล้านตันต่อปี ลงไปสู่ทะเล 0.41 ล้านและมีสัตว์ในท้องทะเลมากกว่า 240 ชนิด เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวสัตว์ทะเลกินพลาสติกและเสียชีวิต ดังนั้น เราต้องช่วยกันเราต้องรณรงค์ และทุกคนต้องช่วยกันทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อไม่ให้มีขยะที่จะลงไปในท่อหรือสู่คลองและทะเลได้ ทุกคนต้องช่วยกันลดการใช้พลาสติก และมีการใช้บ่อดักไขมันทุกบ้าน รักษาคูคลองให้สวยงาม เพื่อให้มีการใช้ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาการเกิดน้ำท่วมในเมืองและทุก ๆ ที่ในประเทศไทย
ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาหัวข้อ “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่นำมาพิจารณาก็คือ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ใกล้เข้ามาแล้วเนื่องจากจะใกล้ช่วงหน้าหนาวของประเทศไทยแล้ว ดังนั้นสิ่งนี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องและกำจัดให้หมดไปโดยเริ่มจาการลดและป้องกันฝุ่นจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเขตเมือง มีการเพิ่มการทำความสะอาดถนน และส่วนจราจรให้มีการส่งเสริมให้รถขนส่งสาธารณะหันมาใช้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะส่งผลเสียกับสุขภาพของคนในเมืองและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์ เสวนาในหัวข้อ “อารยสถาปัตย์” กล่าวว่า อยากเห็นกรุงเทพมหานครเป็นเมือง Friendly design for all หรือเป็นเมืองอารยธรรมสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่สร้างเงินสะพัดมากกว่า 3.3 ล้านล้านบาท นี้ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย แหล่งท่องเที่ยว ตึกอาคารสถานที่ แม้แต่วัด หรือสถานที่ต่าง ๆ ให้มีทางลาดให้มีห้องสุขาที่เป็น Friendly design มีที่จอดรถ มีป้ายสัญลักษณ์ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล และก็จะเป็นการสอดคล้องกับนโยบายหลักในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกต่อไป
ทั้งนี้การประชุมระดมสมองฯ ในครั้งนี้คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานครในทุกมิติ และเป็นเมืองหลวงในฝันของประชาชนต่อไป