สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามความร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ภายใต้โครงการ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี นำร่องในพื้นที่จังหวัดระยอง จากนั้นจะถอดบทเรียนต่อยอดชุมชนต้นแบบสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. มีองค์ความรู้ งานวิจัย นักวิจัยและนวัตกรรมการจัดการขยะครบวงจรพร้อมที่จะจัดการถ่ายทอดและร่วมมือกับทุกภาคส่วนทุกองค์กรในการจัดการขยะในประเทศให้ลดลงและหมดไปอย่างยั่งยืน และเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ซึ่งมีแนวนโยบายในการจัดการขยะในชุมชนและในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของบริษัทฯโดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วมที่ดีอยู่แล้วได้มาร่วมลงนามความร่วมมือจัดการขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกในชุมชุม ร่วมกับ ภายใต้โครงการ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมีระยะเวลาความร่วมมือดำเนินโครงการร่วมกัน 3 ปี ผ่านการดำเนินงาน 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1. ยกระดับศูนย์คัดแยกพลาสติกใช้แล้วเพื่อพัฒนาร้านรับซื้อของเก่าด้วยชุมชน โดยเน้นการจัดการพลาสติกใช้แล้ว รวมถึง เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเศษอาหารและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ซึ่งจะนำร่องที่จังหวัดระยอง 2.สร้างมาตรฐานพลาสติกรีไซเคิลโดยวิธีการและเครื่องมือ เพื่อตรวจสอบและตรวจวัดคุณภาพพลาสติก เช่น การตรวจสอบความหนาแน่น 3. พัฒนาหลักสูตรด้าน “การจัดการขยะให้เป็นศูนย์” เน้นการจัดการองค์ความรู้ ด้านการจัดการขยะด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 4.การใช้เครื่องมือออนไลน์ เน้นการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการที่มีความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรม และ 5. ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะชุมชนที่สำเร็จ เพื่อทำเป็นคู่มือสำหรับนำไปขยายผลในชุมชนอื่นๆต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินงานวิจัยรูปแบบโมเดลการจัดการเรื่องขยะของ วว. ที่จะนำมาใช้ในความร่วมมือในครั้งนี้ในพื้นที่ชุมชนในจังหวัดระยองจะนำแนวทางรูปแบบ “ตาลเดี่ยวโมเดล” ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูปซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง
ในส่วนของเทคโนโลยีหลักที่จะนำมาใช้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย 1.เครื่องคัดแยกขยะรองรับปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่กำลังการผลิต 20-40 ตันต่อวัน พร้อมด้วยระบบกำจัดกลิ่นขยะ ระบบคัดแยกชนิดและสีพลาสติกบรรจุภัณฑ์ เพื่อแปรรูปเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดมลพิษทางน้ำ และระบบการบำบัดน้ำชะขยะโดยใช้สารเร่งตกตะกอนจากผลงานวิจัยของ วว. ระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดิน 2. ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision สามารถแยกพลาสติก PVC ออกจากพลาสติกชนิดอื่นได้ และผลิตเกล็ดพลาสติกที่สะอาดมีคุณภาพ และ 3. นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ประกอบด้วยระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง ระบบผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ และระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF5) จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร
นอกจากนี้ วว. ยังได้ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน
สำหรับขยะพลาสติกที่คัดแยกได้จากโครงการนี้จะใช้เครื่องมือเครื่องจักรย่อยสลายพลาสติกก่อนที่จะเคลื่อนย้ายออกจากชุมชน เพื่อลดขยะต้นทาง ส่วนขยะอินทรีย์เศษอาหารจะนำไปทำเป็นสารปรับปรุงดิน ทำปุ๋ยและไบโอแก๊สและอื่นๆที่มีประโยชน์ซึ่งจะมีการสอนประชาชนในชุมชนให้ดำเนินการเองในรูปแบบที่เหมาะสมด้วยให้ชุมชนนำไปใช้ในรูปแบบที่ง่าย ประชาชนในพื้นที่ยอมรับร่วมมืออย่างต่อเนื่องภายในชุมชน
ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่โลกมีทรัพยากรที่ใช้อย่างจำกัด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่ต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและงานวิจัยรูปแบบต่างๆมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งการรีไซเคิลทรัพยากรที่ใช้ไปให้กลับมาใช้ได้อีกหลายๆครั้ง โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 15% โดยปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยจากวันละ 5,500 ตัน เพิ่มเป็น 6,300 ตันต่อวัน แต่สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้เพียง 23% เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม และลดปัญหาการสะสมขยะในชุมชน รัฐบาลจึงได้มีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน โดย Dow ได้ดำเนินนโยบายจัดการขยะพลาสติกมายาวนานกว่า 19 ปี จะได้นำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมต่างๆที่มีมาร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ร่วมกับ วว. โดยเริ่มจากการต่อยอดในชุมชนต้นแบบที่ทั้งสององค์กรได้เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ก่อนจะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในอนาคตและให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนปลอดขยะพลาสติก นำขยะที่คัดแยกไปสร้างมูลค่า เช่น สร้างไบโอแก๊ส เป็นต้น อย่างยั่งยืนในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป