จากข่าวที่สร้างความกังวลและตื่นตระหนกแก่คนไทย ขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งจาก 35 ประเทศทะลักเข้าไทย และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆทั่วประเทศกว่า 20 จังหวัด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร เข้าตรววจค้นโรงงานนำเข้าแปรรูปกำจัดขยะ-แยกขยะ จำนวนกว่า 33 โรง นำเข้าขยะพิษกว่า 8 แสนตัน สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิต ห่วงโซ่อาหาร แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เสนอแนะแนวทาง 12 ข้อ ในการจัดการขยะอิเลคทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ช่วยกันยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
ดร.ธเนศ วีระศิริ (Thanes Weerasiri) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ย้ำถึงปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะพิษและอิเล็กทรอนิคส์สู่ประเทศไทย จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมสถิติสะสมจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตในปี 2559 โรงงานประเภทลำดับที่ 105 จำนวน 18 แห่ง โรงงานประเภทลำดับที่ 106 จำนวน 31 แห่ง แต่ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 88 แห่ง และ 111 แห่ง รวมทั้งปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการใช้ภายในประเทศ ที่ประเทศไทยยังขาดการจัดการ รวบรวมและกำจัดที่ดี อาทิเช่น คนไทยทั้งประเทศใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 93 ล้านเลขหมาย ในแต่ละปีมีขยะจากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือกว่า เพิ่มขึ้นในทุกปีจึงเป็นปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ชุมชนและสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนมลพิษจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเริ่มจากเส้นทางของผู้ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปถึงผู้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ และสุดท้ายไปสู่ความเสี่ยงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้แก่ 1) ตะกั่ว ทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และการพัฒนาสมองของเด็ก ส่วนพิษเรื้อรังจะค่อยๆ แสดงอาการภายหลัง 2) ปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด ทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น 3) คลอรีนอยู่ในพลาสติกพีวีซี ก่อสารมะเร็ง เมื่อพลาสติกถูกเผาอาจส่งผลต่อระบบหายใจ ระคายจมูก และทำให้เคลือบฟันผุ 4) แคดเมียม มีพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ไตถูกทำลาย และ 5) โบรมีน เป็นสารก่อมะเร็ง อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี
ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ (Thares Srisatit) คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วสท. กล่าวว่า ประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ มี 10 กลุ่ม ตามระเบียบว่าด้วยการจัดการของเสียจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Directive 2002/96/EC of the European Parliament and of the Council of 27 January 2003 on waste electrical and electronic equipment (WEEE) ได้แก่ 1) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า 2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดเล็ก เครื่องดูดฝุ่น,เตารีด 3)อุปกรณ์ IT คอมพิวเตอร์,โน้ตบุ๊ก, เครื่องสแกนภาพ, เครื่องโทรสาร/โทรศัพท์,โทรศัพท์มือถือ 4) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค วิทยุ, โทรทัศน์, กล้องและเครื่องบันทึกวีดีโอ, เครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้า 5) อุปกรณ์ให้แสงสว่าง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6) อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ 7) เครื่องมือวัดหรือควบคุมต่างๆ เครื่องจับควัน, เครื่องควบคุมอุณหภูมิ 8) ของเล่น, เกมส์บอย, ของเล่นที่ใช้ไฟฟ้า 9) เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สว่าน, เลื่อยไฟฟ้า 10) เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ, เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ
ส่วนร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…. ของประเทศไทยนั้น ได้กำหนดขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์, เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย, เครื่องปรับอากาศ,เครื่องรับโทรทัศน์, ตู้เย็น, ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและจะทยอยประกาศออกมาตามความเหมาะสมของการจัดการซากอิเลคทรอนิกส์
แนวทางในการจัดการกับโรงงานแยกขยะอิเลคทรอนิกส์ที่เข้ามาเปิดและลักลอบนำเข้ามีกว่า 148 โรง ควรดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดพร้อมกับการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพราะโรงงานที่พบนั้น ส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เปิดโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการสำแดงเท็จ ซึ่งตามข้อตกลงในอนุสัญญาบาเซล ถือว่าเป็นอาชญากรรม ทั้งนี้ให้ดำเนินการกับโรงงานที่ทำผิดกฎหมายของประเทศ สำหรับการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศจะเป็นไปตามข้อตกลงตามอนุสัญญาบาเซลซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ และต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดตามกฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่
ขั้นตอนตามมาตรฐานในการกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ขั้นตอนที่ 1 การมีระบบการเรียกคืนซากผลิตอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility, EPR) อาจให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ในการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพและหมดอายุ และการจัดตั้ง”ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์” ขั้นตอนที่ 2 การคัดแยกโดยโรงงานคัดแยกที่ได้มาตรฐานและมีระบบควบคุมที่ถูกต้อง ที่ได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นโรงงานประเภท 106 ซึ่งมีการควบคุมกระบวนการต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการบดย่อยเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ปฏิบัติงาน ขั้นตอนที่ 3 นำส่วนที่เหลือจากการคัดแยกและไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ไปกำจัด โดยการฝังกลบแบบปลอดภัยซึ่งป้องกันการรั่วซึมสู่สิ่งแวดล้อม หรือการเผาอุณหภูมิสูงที่แยกออกจากขยะมูลฝอยของชุมชนทั่วไป
กฎหมายควรจะมีข้อปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับขยะอิเลคทรอนิกส์ ปัจจุบันมีร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ซึ่งยกร่างโดยกรมควบคุมมลพิษ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เท่าที่พิจารณาดูแล้วมีความสมบูรณ์ครบถ้วนคล้ายๆ กับของต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น
12 ข้อเสนอแนะจาก วสท.แก่หน่วยงานและรัฐบาล มีดังนี้ ระยะสั้น 1) ระงับการนำเข้าซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซลทั้งหมด ที่รวมไปถึงกลุ่มสำแดงเท็จ 2) ทบทวนความพร้อมการรองรับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตามอนุสัญญาบาเซลที่มีอยู่ในประเทศและผลการดำเนินการของผู้ประกอบการ 3)ทบทวนความจำเป็นในการนำขยะเศษพลาสติกเข้าประเทศ หากไม่จำเป็นขอให้ยกเลิกการนำเข้าเพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ4) ตรวจสอบโรงงานที่นำซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาคัดแยกและสภาพประสิทธิภาพทุกโรงงานรวมทั้งกลุ่มโรงงานที่มีการนำเข้าขยะประเภทอื่นๆ จากต่างประเทศ 5) ติดตามตรวจสอบการคัดแยกของประชาชนที่มีมากในอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์และตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ควบคุมการคัดแยกและทิ้งของเสียออกสู่สาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม 6) ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรอบโรงงานที่มีการคัดแยกซากผลิตภัณฑ์อย่างไม่มีถูกต้องและทิ้งของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม 7) เร่งรัดร่างพรบ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
ระยะยาว 1) ผู้ผลิตสินค้าอิเลคทรอนิกส์ควรมีส่วนร่วมเป็นผู้รวบรวมและจัดเก็บขยะ/ซากอิเลคทรอนิกส์ 2) สนับสนุนให้สร้างโรงงานคัดแยกและกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดตั้งเป็น “เขตอุตสาหกรรมการคัดแยก นำกลับมาใช้ใหม่ของขยะหรือซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงและไม่เกิดความขัดแย้ง 3)หากร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ จะต้องดำเนินการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการรวบรวมซากอิเล็กทรอนิกส์กลับเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐในระดับต่าง ๆ 4) ยกเลิกการนำเข้าซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทั้งที่นำเข้าเพื่อการคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งเพื่อการซ่อมแซมอุปกรณ์ภายใน 5 ปี 5) ยกเลิกการนำเข้าขยะเศษพลาสติกจากต่างประเทศ และยกเลิกการนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อนำมาซ่อมแซมแล้วกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด