เอสซีจี โดยธุรกิจเคมิคอลส์ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จ.ระยอง จำนวน 34 องค์กร จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล จังหวัดระยอง ประจำปี 2562 หรือ International Coastal Cleanup 2019 (ICC 2019) เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องขยะคือทรัพยากร พร้อมส่งเสริมการคัดแยกและการทิ้งขยะอย่างถูกต้องเพื่อลดปัญหาขยะในทะเล ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลก นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยขยะพลาสติก แก้ว และโลหะจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะทั่วไปจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานหรือหมักเป็นแก๊สและปุ๋ยเพื่อการเกษตรต่อไป
ภายในงานมีจิตอาสากว่า 4,500 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังจะได้รับความรู้จากนิทรรศการการจัดการปัญหาขยะและการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 ตามนโยบายของภาครัฐ
ทั้งนี้ วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเก็บขยะชาดหาดพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งจังหวัดระยองได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 สำหรับในปีนี้ จิตอาสาได้ร่วมกันเก็บขยะชายหาดตลอดระยะทางกว่า 15.1 กิโลเมตร ณ บริเวณชายหาดแสงจันทร์-แหลมเจริญ อำเภอเมือง และบริเวณหาดน้ำริน-หาดพยูน-หาดพลา อำเภอบ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระยอง ภายใต้เคมเปญ #PullingOurWeight ซึ่งหมายถึงการรวบรวมปริมาณขยะที่หลุดรอดสู่ท้องทะเลกลับคืนสู่วงจรการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมและครบวงจร
ด้าน ดร. สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชายฝั่งทะเล และช่วยสร้างจิตสำนึกการคัดแยกขยะเพื่อหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของประเทศ”
จังหวัดระยองถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม ระยองมีปริมาณขยะทั้งจังหวัดต่อเดือนเฉลี่ย 30,000 ตัน คิดเป็นขยะพลาสติกประมาณ 9,000 ตัน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันคัดแยกและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและชายหาดต่าง ๆ
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “กิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางระยองโมเดลที่มีเป้าหมายจะทำให้ขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมดโดยไม่มีขยะพลาสติกไปหลุมฝังกลบเลยภายใน 5 ปี”
ตลอด 16 ปี ของกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ หน่วยงาน และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถเก็บขยะได้แล้วกว่า 8 แสนชิ้น รวมน้ำหนักทั้งสิ้นกว่า 89,000 กิโลกรัม โดยข้อมูลของขยะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรวมกับประเทศอื่น ๆ ในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน
ด้าน นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด และบริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้รณรงค์และสร้างจิตสำนึกเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานที่มุ่งเน้นให้เกิดการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ซึ่งเอสซีจีได้ขยายผลแนวคิดดังกล่าวไปสู่ชุมชน รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ที่สนใจ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขยะในทะเลแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
ทั้งนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะในทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินกิจกรรมเก็บขยะชายหาดมากว่า 20 ปี ภายใต้ชื่อโครงการ “หาดงามตา ปลากลับบ้าน” นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนาทุ่นกักขยะลอยน้ำเพื่อใช้กักขยะในบริเวณแม่น้ำ ป้องกันไม่ให้ขยะจากบกไหลสู่ทะเล โดยจะวางทุ่นร่วมกับ ทช. ใน 13 จังหวัดนำร่อง โดยตั้งเป้ากักขยะก่อนไหลลงสู่ทะเลให้ได้ 30 ตัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน สำหรับขยะพลาสติกที่รวบรวมได้จากการเก็บบริเวณชายหาดชุมชนและภายในบริษัทฯ จะถูกนำมาใช้ในการทำถนนพลาสติกรีไซเคิล และทดลองผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลารีไซเคิลอีกด้วย”