มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตสับปะรด ตลอดห่วงโซ่การผลิต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ทางมหาวิทยาลัยได้แถลงผลการวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เข้าร่วมในการให้ทุนเพื่อนำมาศึกษาทำการวิจัย เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และผลักดันภารกิจใหม่ของมหาวิทยาลัย ผ่าน “โครงการนวัตกรรมการจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่” ในทุนท้าทายไทย ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยให้ฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนด้วยการเข้าไปสนับสนุนทุนวิจัยในลักษณะร่วมทุน (Matching Fund) กับมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กในจังหวัดต่าง ๆ โดยใช้ปัญหาหรือความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ มาพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย เพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน ภาคีพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิบดีการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เป็นผู้กล่าวต้อนรับ วิสาห์ พลูศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงความคาดหวังของจังหวัดราชบุรีที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงตามพันธกิจการพัฒนาท้องถิ่นว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากกับความร่วมมือในครั้งนี้ที่เป็นการร่วมมือเพื่อการพัฒนาเกษตรกรชาวจังหวัดราชบุรีให้เกิดผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาขยายสายพันธ์สับปะรด MD2 และเชื่อมั่นว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จะเป็นตัวแทนของจังหวัดราชบุรีเรื่องการพัฒนาสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ และสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้กับจังหวัด
อีกทั้ง อ. ดร.ปรีชา อุยตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเชิงพื้นที่ของ สกสว. กล่าวถึงภาพรวมของการสนับสนุนทุนวิจัยโครงการท้าทายไทย กล่าวว่า การสนับสนุนในครั้งนี้เพื่อการพัฒนาและสนับสนุนให้ชาวเกษตรกรชาวจังหวัดราชบุรี เกิดความมั่นคงทางอาชีพและการที่มีงานวิจัยเข้ามาหนุนเสริมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศจากครบวงจรอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทำให้ชุมชนมีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ และเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ที่ีมีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่แต่ยังอัตลักษณ์เดิม หรือให้มีมูลค่าเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย
การแถลงภาพรวมทั้งหมดของผลการวิจัยในครั้งนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานร่วมกับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ณ ห้องประชุมฉัตรฟ้า อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาฐานข้อมูลสับปะรด จังหวัดราชบุรีในรูปแบบของ Web interface เพื่อเป็นการสนับสนุนการวางแผนการผลิตสับปะรดของกลุ่มเกษตรกร และเป็นการสร้างความมั่นคงของอาชีพให้กับชาวเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกด้วย