ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้นำต้นแบบยึดหลักพรหมวิหาร 4 ผู้ขับเคลื่อนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
หากจะกล่าวถึงบุคคลผู้มีหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม มีจิตใจรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ กอร์ปกับความมีเจตนารมณ์ในการพัฒนาผลักดันองค์กรให้เกิดการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจนสถาบันทางวิชาการอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงสู่การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลอันจะเป็นรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก บุคคลท่านนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอดการทำงาน นั่นคือ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้คร่ำวอดทางด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษ ร่วมผลักดันกฎหมายและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เป็นองค์กรกลางและคลังสมองของประเทศด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี พร้อมกับการการปฏิบัติหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลางบนพื้นฐานทางวิชาการ เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ข้อมูลทางวิชาการ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนรัฐขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายของโลกในการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศเกิดชึ้นอย่างสมดุลและได้มาตรฐาน เพื่อนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลในระดับพื้นที่ การรณรงค์ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ สร้างความร่วมมือกับองค์กรหลักด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเครือข่ายระดับต่าง ๆ ในการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวนโยบายจากการบริหารองค์กรที่นำโดย ดร.วิจารย์ ในฐานะผู้บริหารองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความเป็นนักวิชาการ และหลักการบริหารงานที่ได้ยึดมั่นความถูกต้องตามหลักวิชาการ คุณงามความดีและซื่อสัตย์ และจะสามารถนำพาองค์กรก้าวหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ดร. วิจารย์ เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักวิชาการและนักบริหารสิ่งแวดล้อมในเชิงบูรณาการ สร้างเครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผู้นำทางองค์กรสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการอุทิศตนอย่างมุ่งมั่นและทุ่มเทในการจัดการสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดความรู้สู่การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่เป็นต้นแบบของข้าราชการ ทั้งการวางตัว การถ่ายทอดความรู้ การสร้างเครือข่าย และการประกอบสัมมาชีพ เป็นที่ประทับใจของเพื่อนร่วมงานทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน จนได้รับรางวัลเกียรติคุณและประกาศเกียรติคุณด้านคุณงามความดีจากหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 10 รางวัล ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 อาทิ รางวัล “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” จากสำนักงานข้าราชการพลเรือน รางวัล “คนดีศรี คพ.” จากกรมควบคุมมลพิษ รวมไปถึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิษย์เก่าเกียรติยศ 100 ปี โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย” รางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่น” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “รางวัลเกียรติยศ ผู้ทำประโยชน์ ในวาระ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล “คนดีศรีสะเกษ” จากเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ รางวัลที่ยืนยันถึงคุณความความดีและความซื่อสัตย์สุจริต คือ รางวัล “ผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประจำปี 2558” จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ และรับรางวัลเกียรติยศโล่ห์และใบประกาศเกียรติคุณ “คนดีศรีอีสาน” ในปี 2558 และรางวัล “หนี่งในอีสาน ด้านส่งเสริมคุณธรรม” จากประธานเครือข่ายความดีงามภาคอีสาน ในปี 2560
ดร.วิจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2501 ที่บ้านด่าน ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ บิดารับราชการครูประชาบาล มารดาประกอบอาชีพค้าขาย สำเร็จปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาวิศวกรรมสุขาภิบาล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี 2528 และต่อมาได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลประเทศแคนาดาจนสำเร็จปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่ University of Guelph ประเทศแคนาดา ในปี 2541 นอกจากนี้ ดร.วิจารย์ ยังได้รับการยกย่องและการยอมรับทางด้านวิชาการและการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจะเห็นได้จากการที่สภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ต่าง ๆ มากมาย ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากวิทยาลัยเซาท์อีสบางกอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สิ่งแวดล้อมศึกษา) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดสิ่งแวดล้อม) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาศาสตร์(นิด้า) ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตามลำดับ
ทั้งนี้ กองบรรณาธิการนิตยสาร Green Network ได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษในเรื่องแนวนโยบายการดำเนินงานองค์กร รวมถึงแนวคิดในการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง โดย ดร.วิจารย์ กล่าวว่า ในปีใหม่เข้าสู่ พ.ศ. 2563 สถานการณ์มลภาวะและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังคงมีความน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะภาวะแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งค่าฝุ่นละออง PM2.5 จะยังคงส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพคนไทยและส่งผลต่อปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น ปล่อยไอเสียจากรถยนต์ประกอบกับสภาวะอากาศปิด ที่จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศสูงขึ้น และสถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งล้วนเกิดจากมนุษย์ที่ไม่มีจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้ จึงนำมาซึ่งแนวนโยบายการขับเคลื่อนการงดและเลิกให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือ Single-Use Plastic ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
“สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก็เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมบูรณาการดำเนินงาน โดยนโยบายในปี 2563 นี้ สถาบันฯ จะเป็นตัวกลางความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งคงต้องเน้นมาตรการแก้ไขเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ มาตรการด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถสาธารณะมากขึ้น การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกทุกรูปแบบด้วยการรีไซเคิ่ลให้เป็นกระบวนการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงจัดทำโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และมาตรการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยจัดกิจกรรมให้เยาวชนทุกระดับร่วมกันรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในโรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง”
สำหรับผลการทำงานที่โดดเด่นของ ดร.วิจารย์ ที่ผ่านมา เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ ประกอบด้วย การจัดการมลพิษทางน้ำ ด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะและของเสีย การจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และการสร้างการมีส่วนร่วมด้านงานสิ่งแวดล้อม การจัดการคุณภาพน้ำในระบบพื้นที่ลุ่มน้ำร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ใน “โครงการพันธมิตรลุ่มน้ำท่าจีน” นับเป็นต้นแบบให้ขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ ทำให้ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 2 ปีซ้อน (ปี 2556 และปี 2557) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ส่วนผลงานดีเด่นด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ คือ การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ โดยเน้นการเสริมสร้างบทบาทชุมชนในการแก้ไขปัญหาผ่านการดำเนินการโครงการ “ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา การพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Air4Thai” เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแผนโรดแม๊ปอาเซียนปลอดหมอกควัน “ASEAN Transboundary Haze-Free Roadmap” เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อาเซียนปลอดจากหมอกควันภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีอาเซียน ขณะที่ผลงานด้านการจัดการขยะและของเสีย ได้ขับเคลื่อนผ่านแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย จนสามารถแก้ไขปัญหาการตกค้างของขยะสะสม การสร้างรูปแบบการบริหารจัดการ การนำขยะไปผลิตพลังงาน การสร้างการรับรู้เพื่อลดขยะที่ต้นทาง เป็นต้น และได้เป็นผู้แทนประเทศไทยและระดับภูมิภาค ในการเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การได้รับเลือกเป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในการเข้าไปร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ฉบับที่ 6 (Global Environment OutlooK 6) ขององค์การสหประชาชาติ โปรแกรมสิ่งแวดล้อม (UNEP) อีกด้วย
“แนวคิดในการบริหารองค์กร ผมมีแนวคิดในการบริหารโดยเน้นการมีส่วนร่วม และหุ้นส่วนการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไป บนพื้นฐานความรู้ ข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ เสนอแนะการขับเคลื่อนนโยบายในทิศทางที่ถูกต้อง สร้างสังคมและชุมชนให้เข้มแข็ง ร่วมมือทางวิชาการกับองค์การและสถาบันทั้งในและระหว่างประเทศ และทำงานอย่างโปร่งใส ในส่วนพนักงานของสถาบัน ก็มุ่งพัฒนาศักยภาพ ให้มีความสุขกับงาน และมีความสมดุลของงานรับผิดชอบกับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวด้วย” ดร.วิจารย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่สะสมมาของ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ได้ถูกถ่ายทอดไปสู่ส่วนต่าง ๆให้มีการขับเคลื่อนทางนโยบาย ผ่านการทำงานด้านการบริการวิชาการ ที่ปรึกษางานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในระดับต่าง ๆ แผนแม่บทและยุทธศาสตร์การจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ และด้วยการยึดหลักแนวคิดของความเป็นนักบริหารงานที่ได้ทุ่มเทด้วยใจรัก และเป็นผู้นำที่ทำงานอย่างโปร่งใส ยึดหลักพรหมวิหาร 4 คือ ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ยึดมั่นในคุณงามความดีแล้วนำมาบริหารองค์กรอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จึงเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะชนได้รับการยอมรับทั้งหน่วยงานภายในและองค์กรระหว่างประเทศว่าเป็นผู้นำต้นแบบ และเป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง
Source: กองบรรณาธิการ