กรุงเทพฯ 18 กรกฎาคม 2562 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2”
(KMITL Volunteer Trip) ภายใต้โครงการ “ลาดกระบังโมเดล” เพื่อหล่อหลอมความมีจิตสาธารณะและรับใช้สังคมของนักศึกษา ทั้งในด้านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้พัฒนาชุมชน ร่วมใจปรับปรุงทัศนียภาพชุมชนหัวตะเข้ ลาดกระบัง และร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการส่งต่อความรู้ นวัตกรรม และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของ สจล. เข้าไปประยุกต์ อาทิ การขุดลอกลำคลอง พายเรือเก็บขยะ เพื่อเปิดทางระบายน้ำและปรับภูมิทัศน์บริเวณแหล่งน้ำเลียบชุมชน การจัดเวิร์คช็อปให้ความรู้และสาธิตการพัฒนาถังดักไขมันดีไอวาย เพื่อจัดการไขมันหรือของเสียจากครัวเรือน การปรับปรุงราวจับสะพานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน การปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ เพื่อเอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ และการให้บริการตรวจวัดสุขภาพ โดย สจล. มุ่งหวังว่ากิจกรรมจิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบังครั้งนี้ จะสามารถเป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบของการพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบันการศึกษา แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ ในการพัฒนาชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีได้ในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2” (KMITL Volunteer Trip) ภายใต้โครงการ “ลาดกระบังโมเดล” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผสานทั้งองค์ความรู้และการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย และพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการ และการมีจิตสาธารณะของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน ด้วยการมีส่วนร่วมพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ตามแนวพระราชดำริ “KING MODEL” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ที่บ่งชี้ถึงคุณลักษณะของชุมชนที่น่าอยู่ไว้ดังนี้
- สภาพแวดล้อมภายในชุมชนเอื้อต่อการพักอาศัย
- คนในชุมชนมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจในการรักษาสุขอนามัย
- คนในชุมชนมีสิทธิการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม
- สามารถประกอบอาชีพ ได้ด้วยผลิตภัณฑ์ อันเป็นอัตลักษณ์ประจำชุมชน และ
- ชุมชนมีสภาพสังคมภายในที่ดี สมัครสมานสามัคคี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในชุมชนที่เหมาะสม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า จากความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าว ในปีนี้ สจล. จึงได้สานต่อโมเดลดังกล่าว ด้วยการผสานความร่วมมือกับ จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2” (KMITL Volunteer Trip) กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ บริเวณโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองลำปลาทิว โดยทำการจัดตั้งจุดบริการและลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามความรู้และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน อาทิ
- ลดการใช้รถ 1 วันเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้ขวดน้ำและพาชนะพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะ
- ปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ ให้เอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่
- ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน ออกแบบราวสะพานไม้ ขัดและทาสีแลคเกอร์สะพาน เพื่อให้เกิดความสวยงาม พร้อมติดตั้งให้แก่ชุมชนหัวตะเข้ โดยความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- จัดคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชน อาทิ วัดความดัน วัดความสูง และวัดองค์ประกอบร่างกาย โดยหน่วยบริการทางการแพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ สจล.
- ขุดลอกลำคลอง พายเรือเก็บขยะ และเรือเครื่อง เพื่อเปิดทางน้ำไหล บริเวณโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองลำปาทิว โดยความร่วมมือกับสำนักงานเขตลาดกระบัง หน่วยงานทหาร จิตอาสาพระราชทาน และจิตอาสาพระจอมเกล้า
- เก็บขยะบกที่ตกค้างบริเวณริมคลอง จากโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ ถึง ปากทางคลองลำปาทิว เพื่อฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำเลียบชุมชน โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
- จัดเวิร์คช็อปให้ความรู้ พร้อมสาธิตการประดิษฐ์ถังดักไขมัน เพื่อช่วยชุมชนบริหารจัดการไขมันหรือของเสียในครัวเรือน และสำรวจความต้องการเพื่อทำติดตั้งในอนาคต โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
- จัดเวิร์คช็อปว่าวทำมือ เพื่อเป็นของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมกิจกรรม โดยชุมชนหัวตะเข้
การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ภายใต้ “ลาดกระบังโมเดล” ในครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เคเอ็มไอทีแอล 60 โก โก” (KMITL 60 GO GO) โดยมุ่งหวังให้เป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบของการพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบันการศึกษา แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งผลักดันกระบวนการหล่อหลอมจิตสาธารณะในการเป็นบุคคลและบัณฑิตที่พร้อมรับใช้สังคมในอนาคตตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อันเป็นการสะท้อนภาพการเป็นสถาบันฯ อันทรงคุณค่าของชุมชน ทั้งด้านวิชาการ และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสถานศึกษา อย่างไรก็ดี สจล. ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาและจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ภายในสถาบัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนโดยรอบสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิชาการ และการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ อันสอดคล้องกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ควบคู่ไปกับการจัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป