ในงานประกาศผล “โครงการออกแบบนวัตกรรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า” รอบชิงชนะเลิศ จัดโดย โคเวสโตร ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คว้ามาได้ทั้ง 3 รางวัลหลัก
คุณพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากแนวคิดของโจทย์การประกวด Innovation Design Contest ปีนี้คือการออกแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Recharge to a Fully Circular Way) สอดคล้องกับ กฟผ. ที่กำหนดให้มีการจัดสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ ภายในปี 2565
“แม้ว่า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผลงานของทีมนักศึกษา มจธ. ทั้ง 3 ทีม สามารถตอบโจทย์ที่เรากำหนดได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านการออกแบบที่เน้นการใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น ผู้ชนะเลิศมีจุดเด่นด้านการออกแบบอาคาร mini station ที่น่าสนใจ สามารถสร้างและใช้งานได้จริง ขณะที่ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 โดดเด่นด้านนวัตกรรม ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับสอง มีไอเดียด้านการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เป็นที่ตั้งของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
นายวชิรวิทย์ รางแดง ตัวแทนทีม KMUTT Charging Station ทีมชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า เราออกแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีมีขนาดเล็ก เพื่อให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างไม่ต้องมาก หรือต่อเติมจากอาคารเดิมได้
“ตู้ชาร์จเราใช้รูปทรงของเต่า ซึ่งนอกจากดูน่ารักแล้วภายในมีการออกแบบที่ช่วยในเรื่องการระบายความร้อนที่เกิดจากการชาร์จโดยการนำหลักการพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณมาใช้ในการวิเคราะห์รูปทรงภายในที่เหมาะสมด้วย นอกจากนั้นยังติดตั้งพลังงานสะอาดที่ได้จากแสงอาทิตย์และลม และมีการสร้างกำแพงต้นไม้ เพื่อกรองอากาศบริสุทธ์ให้กับผู้มารับบริการและคนที่ผ่านไปมา พร้อมทั้งมีแอปพลิเคชันสำหรับนวัตกรรมการซื้อขายไฟในอนาคตแบบ Real Time Pricing มาในรูปแบบ Energy Trading Platform ที่ทำให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสร้างกำไรจากการซื้อไฟฟ้าชาร์จรถในราคาที่ถูกและขายไฟฟ้าที่เหลือในราคาที่สูงกว่า โดยราคาอิงจาก Time-of-Use ภายในประเทศ”
ด้าน นายเขมณัฐ โพธิ์ประสิทธิ์ จากทีม DENOTOL ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมกับรางวัล Popular Vote กล่าวว่า นวัตกรรมที่ใช้ในตัวสถานีจะใช้วัสดุสแตนเลสและโพลีคาร์บอเนต ที่สามารถรีไซเคิลได้ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สถานีที่ออกแบบนี้มีเซ็นเซอร์เพื่อระบุป้ายทะเบียนรถที่มาใช้บริการ เพื่อความสะดวกในการจองและเข้ารับบริการ
“การที่เราทั้ง 5 คนเป็นนักศึกษา ปี 2 และอยู่ในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าทั้งหมด แต่งานนี้ต้องใช้ศาสตร์วิศวกรรมหลายสาขา ทั้งไฟฟ้า โยธา รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม อีกทั้งต้องมีการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์เพื่อดูเรื่องต้นทุนและความคุ้มค่า ผลงานนี้ คือประสบการณ์ที่มีค่าและเป็นประโยชน์ยิ่งกับพวกเรา”
สำหรับคอนเซ็ปต์ของทีม Camellia Charging Station ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มีสมาชิกในทีมทั้งหมด 4 คน จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและพลังงานนั้น เป็นการออกแบบสถานีประจุไฟฟ้า ที่มีจุดเด่น คือ การจัดการขยะรีไซเคิล และการใช้แหล่งพลังงานทดแทนได้ครบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
“สถานีของเราออกแบบไว้สำหรับการติดตั้งที่บริเวณชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะมีการบริโภคสิ่งที่ก่อให้เกิดขยะรีไซเคิลในปริมาณสูง ทั้งโลหะ พลาสติก กระดาษ โดยออกแบบให้เป็นสถานีที่สามารถให้คนในชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการได้ในระดับหนึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระจายรายได้ให้แก่ผู้คนในบริเวณชุมชน” นายสรวิชญ์ แวววีรคุปต์ หนี่งในสมาชิกทีม Camellia ให้ข้อมูล