23 กันยายน 2562 – ทส. ร่วมกับคณะผู้แทนไทย นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2019 (United Nations Climate Action Summit 2019) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับคณะผู้แทนไทย นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2019 (United Nations Climate Action Summit 2019) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
โดยการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อยกระดับความมุ่งมั่นในการดำเนินการของประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเน้นย้ำว่า ประเทศอาเซียนมีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาเซียนจึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญ (key targets) ของอาเซียนในด้านสภาพภูมิอากาศใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านพลังงาน อาเซียนจะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 และ (2) ด้านการขนส่งทางบก อาเซียนจะลดการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียนร้อยละ 26 ระหว่างปี ค.ศ. 2015 – 2025 รวมถึงจะเสนอและเสริมสร้างมาตรการนโยบายการคลังบนพื้นฐานการประหยัดพลังงานหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับประเทศ และส่งเสริมการประกาศใช้มาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กของแต่ละประเทศ พร้อมเน้นย้ำว่า การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศและทุกภาคส่วน โดยอาเซียนพร้อมที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประกันความยั่งยืนให้กับอนุชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต
แถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมฯ (ASEAN Joint Statement to the United Nations Climate Action Summit 2019) เป็นข้อริเริ่มของไทยในฐานะประธานอาเซียน เนื่องจากไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมฯ และความจำเป็นในการร่วมมือร่วมใจกันของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญของศตวรรษ โดยแถลงการณ์ร่วมที่ไทยได้จัดทำผ่านการเจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียน สะท้อนเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในด้านสภาพภูมิอากาศของอาเซียน และเน้นย้ำบทบาทของอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลัก (theme) สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
Source: ภาพ-ข่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม