กรุงเทพฯ – 26 ตุลาคม 2563 : กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และกองทัพบก ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะ 2- 3 บนพื้นที่ 259 ไร่ ด้วยงบประมาณ 652 ล้านบาท ให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีการปรับภูมิทัศน์ ให้เป็นสวนป่า มีการนำพันธุ์ไม้หายากมาปลูกเพื่อให้เป็นที่เรียนรู้แก่เยาวชนรุ่นหลัง พร้อมมีศูนย์เรียนรู้พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างสมพระเกียรติ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จและจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ระยะแรก ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2564
สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ร่วมมือกับ กองทัพบก ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการสร้างสวนป่า “เบญจกิติ”ระยะที่ 2–3 บนพื้นที่ 259 ไร่ ด้วยงบประมาณกว่า 652 ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบเป็น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงมีพระเมตตาในการริเริ่มสร้างสวนเบญจกิติและพระราชทานชื่อ สวนสาธารณะดังกล่าวว่า “เบญจกิติ” และเปิดให้กับประชาชนได้มาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมด้านต่างๆเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537
ต่อมาในปี พ.ศ.2559 มีการก่อสร้างปรับปรุงสวนเบญจกิติระยะที่ 1 บนพื้นที่ 61 ไร่ แล้วเสร็จและรัฐบาลได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้กรุงเทพฯดูแลแล้วนั้น จึงได้เร่งดำเนินการในระยะที่ 2 -3 ร่วมกับกองทัพบก ซึ่งแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย งานรื้อถอน งานออกแบบ งานจ้างที่ปรึกษาโครงการและงานก่อสร้าง โดยให้บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบ ภายใต้แนวคิด “การสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิตที่สร้างการมีส่วนร่วม ความผูกพัน และสำนึกรักหวงแหนในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ระยะแรกบางส่วนได้ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2564 และเปิดได้ครบทั้งโครงการประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การก่อสร้างในระยะที่ 1 ใช้กำลังพลในส่วนของกองทัพบก จากกองพลพัฒนาที่ 1 ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยดี จึงได้ลงนามร่วมก่อสร้างต่อระหว่างกรมธนารักษ์ กับกองทัพบก เพื่อสร้างในระยะที่ 2 บนเนื้อที่ประมาณ 131 ไร่และในระยะที่ 3 อีกประมาณ 128 ไร่ให้มีการก่อสร้างรูปแบบต่อเนื่องและสอดคล้องกัน โดยจะดำเนินการก่อสร้างตามการออกแบบที่จะมีพื้นที่สีเขียวอาคารนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ที่จะให้เกิดการเรียนรู้งานพระราชกรณียกิจให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาดูงาน รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนออกกำลังกายของคนกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่หาได้ยาก โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ประจำพระองค์ มีทางวิ่ง ทางจักรยานและทางเดินรอบๆโครงการอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีติดตั้งพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เพื่อใช้เป็นพลังงานส่องสว่างภายในพื้นที่ และติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาทำให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงอาคารเดิม เช่น อาคารโกดังเดิม อาคารพิพิธภัณฑ์และอาคารแสดงสินค้า Pavilion ให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบและตรงกับวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างโครงการดังกล่าวด้วย