โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงาน โหมกระพือแย่งพื้นที่สื่อมากว่าครึ่งปี แม้แต่ฝุ่น PM 2.5 อาหารจานโปรดของสื่อทั้งหลายก็ยังไม่อาจกลบข่าวโรงไฟฟ้าชุมชนลงได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของปากท้อง เป็นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนตลอด 365 วัน ไม่ใช่ปัญหาปีละ 3-4 เดือน เหมือนฝุ่นพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น
โรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีคนกล่าวขานว่า 100 ปี มี 1 ครั้งนั้น ได้มุ่งแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ของกระทรวงที่สร้างไว้หลายยุคหลายสมัย เป็นบาดแผลลึกที่รอการเยียวยามากว่า 10 ปี เศรษฐกิจของประเทศเสียหายเกินคณานับ โครงการพลังงานทดแทนเหล่านั้นได้มีโอกาสแจ้งเกิดอีกครั้งในโครงการ Quick Win ซึ่งมีทั้งโครงการชีวมวลและก๊าซชีวภาพ สำหรับโครงการใหม่ของโรงไฟฟ้าชุมชน พอจะสรุปแยกเชื้อเพลิงออกได้ 3 ส่วน คือ
- จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ทั้งทะลายปาล์มเปล่า (EFB) น้ำเสียจากโรงงานหีบปาล์ม กลุ่มนี้ค่อนข้างมีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง และมีความสามารถในการลงทุนเอง
- กลุ่มชีวมวล (BIOMASS) ซึ่งมีความหลากหลายของแหล่งที่มาของเชื้อเพลิง อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากมายที่ต้องการเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งไม่รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับใบอนุญาตขายไฟ (PPA) แล้วและกำลังก่อสร้างอยู่อีกหลายร้อยเมกะวัตต์ ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการจึงมีทั้งที่มีเชื้อเพลิงอยู่จริง และจะปลูกขึ้นใหม่จริง ๆ และผู้ที่เข้าร่วมเพื่อเพิ่มความมั่นคงของราคาเชื้อเพลิง รวมทั้งผู้ที่ไม่ต้องการพลาดรถไฟสายเศรษฐกิจฐานราก จึงเจียดเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งมาเข้าร่วมโครงการ ความเห็นผู้เขียนก็คือ ชีวมวลไทย ได้เวลาปลูกเพิ่มแล้ว ราคาหน้าสวนป่าประมาณตันละ 650-700 บาทต่อตัน ส่วนราคาที่โรงไฟฟ้ารับได้ไม่น่าจะเกินตันละ 950 บาท ลองพิจารณากันดู ถือว่าโยนหินถามทางก็แล้วกัน
- กลุ่มก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่กระทรวงพลังงานมุ่งมั่น และวางยุทธศาสตร์ ใช้การตลาดนำภาคเกษตรกรรม โดยผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์จะมีตลาดตามสัญญากับภาครัฐถึง 20 ปี ในราคาที่ตกลงกับโรงไฟฟ้า ซึ่งชุมชนมีส่วนเป็นเจ้าของถึง 10% ตามสัญญาเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)
หญ้าเนเปียร์จะสามารถพลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้เขียวขจีได้จริงหรือ … ?
คงต้องมาแยกแยะเป็นรายจังหวัด และ พื้นที่ที่แตกต่างกันหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี บ้างก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้างก็เป็นเมืองชายแดน มีการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับภาคอีสานตอนกลางหลายจังหวัด หลายอำเภอที่ไม่ได้ปลูกอ้อยหรือ ปลูกยางพารา อีกทั้งปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลังก็ยังไม่ได้ผลดี ในส่วนนี้ควรส่งเสริมให้มีการปลูกหญ้าเนเปียร์ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำจะเหมาะสมอย่างมาก
คงไม่มีพืชล้มลุกชนิดใดที่ไม่ต้องการทั้งน้ำทั้งปุ๋ยในการเจริญเติบโต “เนเปียร์” ก็เช่นกัน ถ้ามีความอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำทั้งปุ๋ย ผลผลิตก็จะดีขึ้น ขอยกตัวอย่างหญ้าเนเปียร์ที่กรมปศุสัตว์พัฒนาพันธุ์แล้วให้ผลผลิต ดังนี้
ผลผลิตพันธุ์ปากช่อง 1 หากมีการดูแลครบถ้วน สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 5-6 ครั้ง ให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 70-80 ตันต่อไร่ต่อปี และหากมีการรักษาตอให้ดีก็จะสามารถใช้ตอเดิมได้โดยผลผลิตไม่ลดลง (ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)
ผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพหญ้าเนเปียร์
ผลกระทบในภาพกว้าง
- เปลี่ยนกระบวนการคิดในการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในมือของกลุ่มทุนสู่การแบ่งปันสู่ชุมชนและอาจเป็นแม่แบบแห่งความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศในอนาคต
- เกิดการประกันรายได้สินค้าเกษตรระยะยาว เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ภาคเกษตรกรรม
- การปลูกหญ้าเนเปียร์ที่มากเพียงพอ เช่น 200,000 ไร่ (สำหรับผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์) จะช่วยพลิกพื้นดินแห้งแล้งภาคอีสานบางส่วนให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว มีความชุ่มชื้นอย่างยั่งยืนตลอดอายุสัมปทาน 20 ปี
ผลพลอยได้
- เกิดอาชีพต่อเนื่องจากการปลูกหญ้าเนเปียร์ เช่น การเลี้ยงวัว และ เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ
- การปลูกพืชเสริม เช่น ทุเรียน กาแฟ และผลไม้ต่าง ๆ อันได้จากความชุ่มชื้นของพื้นดิน และปุ๋ย ที่มาจากของเหลือใช้ในโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ
- มีการจ้างงานเพิ่มทั้งด้านการปลูก เก็บเกี่ยว และในโรงไฟฟ้า
- มีการพัฒนาเทคโนโลยีการหมักก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน และการพัฒนาพันธุ์หญ้าเนเปียร์ รวมทั้งเทคนิคการปลูกหญ้าเนเปียร์
โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์ อาจไม่ง่ายและเบ็ดเสร็จเหมือนโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้ลงทุนและชุมชนยังมีพันธกิจร่วมกันตลอดระยะเวลาอันยาวนานของโครงการในการร่วมจัดการระบบฟาร์มที่จะปลูกหญ้าให้ได้ผลผลิตสูงสุดด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้โรงไฟฟ้าชุมชนจากเนเปียร์จึงไม่เหมาะกับภาคเอกชนที่ต้องการสร้างผลกำไรแบบให้เงินช่วยทำงานแทนเหมือนพลังงานทดแทนอื่น ๆ
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ เป็นนโยบายแบบ BIG ROCK ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคนอีสานอย่างมีนัยสำคัญ อีสานจะเขียวได้ตามแผนที่กระทรวงพลังงานคาดหวังหรือไม่ ชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ เอกชนที่เข้าร่วมลงทุน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือร่วมใจ สู่เป้าหมายเดียวกัน คือให้คนอีสานกินดีอยู่ดีขึ้น …
“หมู่เฮาสุผู้สุคนกะขอซำนี้ละ กะพอได้อยู่ได้กินแล้วเด้อพีน้องงง”
Source: พิชัย ถิ่นสันสติสุข