การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมจัดงาน “พิธีเปิดและการสาธิตห้องทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ” เพื่อเปิดตัวห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากกองทุน RAC NAMA เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบข้อมูลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศฉบับใหม่ (มอก. 1529-2561) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่กำลังจะประกาศใช้ และเป็นโอกาสที่ดีของการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตไปสู่การใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สมใจ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ในฐานะผู้จัดการกองทุน RAC NAMA ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจำนวน 8.3 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 300 ล้านบาท กฟผ. ได้ดำเนินโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่การใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวผ่านสารทำความเย็นธรรมชาติ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับปรุงห้องทดสอบเครื่องปรับอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อมของห้องทดสอบสำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่กำลังเข้าสู่ตลาดในอนาคต จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากอุปกรณ์และระบบเดิมที่มีอยู่ให้ปลอดภัยต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานไทยและสากล ให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศของไทยเป็นที่ยอมรับสามารถส่งออกและแข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป
RAC NAMA หนุนไทยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศมากว่า 4 ปี
ดร. ฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่สำคัญของโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 12 % โดยปัจจุบันการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ทำความเย็นและปรับอากาศคิดเป็นกว่า 60% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น หรือ RAC NAMA เข้ามาสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดการใช้พลังงานตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
โดยในระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันตลาดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้ผลิตภัณฑ์ทำความเย็นที่ผลิตออกสู่ตลาดช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนในอนาคตจะพยายามเร่งหาเทคโนโลยีร่วมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินโครงการให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
“ภายในปีนี้ พ.ศ. 2564 ประเทศไทยวางแผนที่จะลงนามในพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข (Kigali Amendment) เพื่อจำกัดการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons: HFCs) ที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (ค่า Global Warming Potentials: GWP) และค่าศักยภาพในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ค่า Ozone Depletion Potential: ODP) สูงและสนับสนุนการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร. ฟิลิปป์ กล่าว
มาตรฐานฉบับใหม่นี้ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ หนุนไทยก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว
ณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) กล่าวว่า สฟอ. ได้เดินหน้าพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลักดันการส่งออกสินค้าไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเสริมสร้างสมรรถนะของอุตสาหกรรม ผลักดันการใช้สินค้า วัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลและบนเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบการนำไปใช้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวที่ภาครัฐได้ร่วมกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการร่วมกับดำเนินงานเพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่ความเป็นเลิศด้านการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้มีการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศฉบับใหม่ (มอก. 1529-2561) ซึ่งมีข้อบังคับครอบคลุมถึงสารทำความเย็นติดไฟได้ โดยเชื่อมั่นว่ามาตรฐานฉบับใหม่นี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ทำความรู้จักมอก. 1529-2561 มาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่เน้นปลอดภัย
เกียรติศักดิ์ ประเสริฐสุข นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า มอก. 1529-2561 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศคุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศ รวมถึงกำหนดวิธีการทดสอบที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมเครื่องปรับอากาศที่มีความสามารถทำความเย็นทั้งหมดไม่เกิน 18,000 วัตต์ หรือประมาณ 60,000 BTU ขอบข่ายรวมถึงเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้ รวมถึงเครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้มีจุดประสงค์สำหรับที่อยู่อาศัยปกติ แต่อาจจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ เช่น เครื่องปรับอากาศในโรงงานอุตสาหกรรมเบาหรือฟาร์ม ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ IEC 60335-2-40/AMD 1: 2016 (Edition 5.1) ซึ่ง สมอ.กำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยในการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้ เช่น สร้างให้สารทำความเย็นไม่เกิดการรั่วไหลสะสมจนเป็นอันตราย ทนทานต่อการสั่นสะเทือน และป้องกันท่อที่สัมผัสสานทำความเย็น เป็นต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อลดการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol) และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อมาตรฐานนี้มีผลบังคับใช้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศสำหรับขายในท้องตลาดจะมีแนวทางข้อกำหนดต่าง ๆในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตลาดมีความต้องการ รวมทั้งช่วยกันผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย
แนะนำห้องทดสอบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นสีเขียว
ภาวัต สุวรรณกูฏ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกปฏิบัติการทดสอบ 2 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) กล่าวว่า สำหรับห้องทดสอบทดสอบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นสีเขียว สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้วยกัน ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ห้องทดสอบการทนแรงสั่นสะเทือนจากการขนส่ง ซึ่งจะทำการทดสอบกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการนำเข้ามาให้สถาบันฯ ทดสอบก่อนที่จะไปยื่นขอใบรับรองผลิตภัณฑ์จาก สมอ.และจำหน่ายสู่ตลาดผู้บริโภคต่อไป โดยจะทำการทดสอบแบบ Random Vibration เป็นระยะเวลานาน 180 นาที ซึ่งภายหลังการทดสอบผลิตภัณฑ์จะต้องไม่มีการรั่วไหลของสารทำความเย็นที่บรรจุออกมาจากผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ส่วนต่อไปจะเป็นการเครื่องปรับอากาศแบบติดตั้งจริงภายในห้องทดสอบที่ควบคุมสภาวะตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานความปลอดภัย มอก.1529-2561 โดยจะทำการสาธิต กำลังไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า การเกิดความร้อน เป็นต้น ซึ่งเป็นการวัดกำลังไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า เพื่อให้แสดงค่าบนฉลากของผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการวัดการเกิดความร้อนในส่วนต่างๆของเครื่องปรับอากาศว่ามีอุณหภูมิไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน โดยภายในห้องทดสอบได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรั่วไหลของสารทำความเย็นชนิดติดไฟได้ ชนิด R-290 ไว้ด้วย และทดสอบเครื่องปรับอากาศแบบติดตั้งจริงภายในห้องทดสอบ Balanced Ambient Room-type Calorimeter ตามมาตรฐานด้านประสิทธิภาพ พลังงาน มอก.2134-2553 โดยเป็นการวัดค่าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศ เช่น กำลังค่าไฟ ขีดความสามารถในการทำความเย็นอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงาน เป็นต้น โดยภายในห้องทดสอบได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรั่วไหลของสารทำความเย็นชนิดติดไฟได้ ชนิด R-290 ไว้ด้วย ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ของ สมอ.และข้อกำหนดโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ของ กฟผ.ด้วย