ทรัพยากรด้านพลังงานเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้มีศักยภาพและเพียงพอ ตลอดจนการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม จึงนำมาสู่การสัมมนา เรื่อง “อนาคตพลังงานไทย ใครกำหนด” ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย
การสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาว่า “การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสัมมนาขึ้นในครั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับพลังงานไทย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์มากมายจากข้อมูลของวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับฟังแล้วนำไปเป็นแนวทางกำหนดนโยบายให้กับแต่ละองค์กรต่อไป เพื่อดำเนินการด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งในส่วนของกระทรวงฯ ได้ตั้งกองทุนขึ้นเพื่อส่งเสริมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยสำหรับสนับสนุนการทำวิจัยระดมสมองในการร่วมกำหนดพลังงานของไทยให้มีทิศทางที่ชัดเจน”
ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงเช้ามีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ดร.วันทนีย์ จองคำ สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย บรรยายหัวข้อ “การจัดเสวนา 4 ภาค ในปี 2561” ขณะที่ ธวัชชัย สำราญวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ บรรยายหัวข้อ “พลังงานฐาน” รวมถึง ดร.นุวงศ์ ชลคุป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, MTEC ร่วมเสวนาหัวข้อ “พลังงานทางเลือก” นอกจากนี้ ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน กล่าวเสวนาในหัวข้อ “นโยบายด้านพลังงาน” และมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้ร่วมบรรยายในหวั ข้อ “สถานการณ์ปัจจุบันด้านพลังงานของไทย”
สำหรับการเสวนาในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย เจน นำชัยศิริ สมาชิกวุฒิสภา และในฐานะกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชียไฟเบอร์ จำกัด (มหาชน) เสวนาเรื่อง “อนาคตพลังงานไทย ใครกำหนด” พร้อมกล่าวว่า “สถานการณ์และบทบาทพลังงานของไทยในปัจจุบันแต่ละชนิดล้วนมีข้อดี-ข้อเสียที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขและดำเนินการต่อไป คือ หน่วยงานหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจะต้องนำข้อมูลที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้าถึงได้ และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพลังงาน จึงจะสามารถร่วมมือกันด้านการใช้พลังงานในอนาคตให้เป็นไปในทิศทางที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมได้อย่างแท้จริง”
ขณะที่ มนูญ ศิริวรรณ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์ปัจจุบันด้านพลังงานของไทย” ว่า “สถานการณ์ด้านพลังงานไทยต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเป็นระบบเพื่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รวมไปถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความรับผิดชอบและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ”
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู กล่าวว่า “กระทรวงพลังงานได้ปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศแบบระยะยาว รวมถึงได้ประเมินวัดค่าพยากรณ์หรือความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในแต่ละภูมิภาคเพื่อการจัดสรรพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการจัดการตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่สามารถทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ โดยคำนึงแนวโน้มเทคโนโลยีสู่การพัฒนา การสร้างความสมดุลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตพลังงานทดแทน และการรักษาระดับไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น”
ทั้งนี้ ในการเสวนาดังกล่าวผู้ร่วมบรรยายต่างมีความเห็นสอดคล้องกัน ด้วยการเสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันกำหนดทิศทางอนาคตพลังงานไทยให้เกิดความชัดเจนและส่งเสริมการใช้พลังงานบริสุทธิ์ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวมวล และพลังงานจากขยะรีไซเคิล เพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกแก่ประชาชนทั้งประเทศ
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 94 กรกฎาคม-สิงหาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Scoop โดย กองบรรณาธิการ