อีทราน (ETRAN) ประสบความสำเร็จในการระดมทุน Series A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จาก 2 นักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด หลักทรัพย์ เอ็ม.เอ.ไอ (mai) และ Angle Investor หรือนักลงทุนอิสระ ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยให้อีทรานสามารถทำการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
การระดมทุนในครั้งนี้ของทั้งสองนักลงทุนรายใหญ่ เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของอีทราน ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทรนด์รถไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเติบโตทั่วโลก สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เทคโนโลยีมอเตอร์และแบตเตอรี่สมรรถนะสูง เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และเทคโนโลยีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีทรานได้วิจัยและพัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม จุดเปลี่ยนแบตเตอรี่และการบริการหลังการขายที่ครอบคุม และมองการตลาดเป็นการสร้าง Community ให้ไทยเปิดรับการเติบโตของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้อีทราน
สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) กล่าวว่า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Drive The Better World ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
- Clean มุ่งมั่นพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ของรถมอเตอร์ไซค์ให้เป็น Cleaner Mobility ทำให้ Value Chain เป็น Clean Energy ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ลดการใช้พลาสติกจากพลังงานฟอสซิสมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- Efficient พัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยลง สมรรถนะโดดเด่น ใช้งานได้ทุกรูปแบบ
- Equitable ส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยทำให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พลังงานสะอาดของอีทราน เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ ให้ผู้ใช้งาน
เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ETRAN PROM รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่ง สาธารณะโดยเฉพาะคันแรกของโลก ได้รับรางวัล “Reddot Winner 2020 Innovative Product” จาก Red Dot Design Award ประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยอดเยี่ยม และได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุน และสร้างมาตรฐานของรถไฟฟ้าสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในประเทศได้
ในปีนี้อีทรานวางแผนจะเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจำนวน 2 รุ่น คือ รุ่นที่1 KRAF ทำตลาดในกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ที่ผ่านมาในปีพ.ศ. 2562 ETRAN KRAF เปิดตัวรุ่น Limited Edition ซึ่งได้การตอบรับที่ดี จากกลุ่มผู้รักการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ปัจจุบัน อีทราน กำลังพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยบนท้องถนนพัฒนา สามารถขับขี่ได้แม้ฝนตกและน้ำท่วม และเพิ่มอรรถรสในการขับขี่ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานและสังคม รวมถึงการพัฒนาการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งจะเปิดตัวในปลายปีนี้
ส่วนรุ่นที่ 2 MYRA รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ออกแบบเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะรุกตลาดกลุ่มไรเดอร์เดลิเวอรี่ ด้วยระยะทางต่อการชาร์จ 190 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากผู้ขนส่งทั่วไปใช้ยานพาหนะวิ่งขนส่งสินค้า 100-200 กิโลเมตรต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิด COVID-19 วิ่งระยะทางเกิน 200 กิโลเมตรต่อวัน และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรองรับอุปกรณ์พิเศษ เช่น กล่องขนส่ง ตู้เย็น อุปกรณ์ติดตามและระบบบริหารจัดการเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่
พร้อมกันนี้ได้สร้างระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรูปแบบของ ETRAN Power Station ที่จะติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 100 จุด ภายใน 3 ปี เพื่อรองรับผู้ใช้งานโดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ โดยในปีนี้จะสร้าง ETRAN Power Station เฟสแรก 3 จุด ในใจกลางกรุงเทพมหานคร และมองเป้าหมายเติบโตไปกับภาคการขนส่ง Last Mile Delivery กว่า 10,000 คัน ภายในปี พ.ศ.2567
สรณัญช์ กล่าวว่า ตามแผนการดำเนินธุรกิจอีทราน ในปีพ.ศ. 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างรายได้ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาท และในปีพ.ศ. 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตก้าวกระโดดแตะ 1,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้วางเป้าหมายสร้างยอดขาย 50% ของตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารวม ภายในปี พ.ศ.2568 ด้วยยอดขายกว่า 100,000 คัน
“อีทรานตั้งเป้าเป็นผู้นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยภายใน 3ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขนส่ง วินมอเตอร์ไซค์ 3. ภาครัฐ และผู้รักมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีการพัฒนาต้นแบบแล้วกว่า 40 คัน คาดว่าจะได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้รักและชื่นชอบมอเตอร์ไซค์” สรณัญช์ กล่าว
อีทรานมีเป้าหมายเปลี่ยนวงการรถมอเตอร์ไซค์สู่พลังงานสะอาดด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ตระหนักว่าพวกเขามีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ ด้วยการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งไม่สร้างมลพิษทางอากาศและมลพิษเสียงเพื่อโลกที่ดีกว่า
“อีทรานจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนไทยหันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างพฤติกรรมการขับขี่ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ยานพาหนะของผู้ขับขี่ เพื่อตอบโจทย์ Drive The Better World” สรณัญช์ กล่าว
ด้าน อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมีความพยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กับภาคนโยบาย (Policy) เพื่อผลักดัน EV ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ตลาด EV ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ภาครัฐเดินหน้านโยบายจริงจังผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) วางเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน (EV Hub) พร้อมทั้งวางเป้าหมายสนับสนุนให้มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ EV ในประเทศจำนวน 1,800,000 คัน ภายใน 3 ปี 2. ภาคผู้ผลิต เริ่มมีรถ EV ในแผนการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการตลาดในประเทศ มากขึ้น ซึ่งอีทรานเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่พร้อมจะร่วมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น EV Hub อย่างเต็มรูปแบบ และ3. ภาคผู้บริโภค เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภค มีความมั่นใจต่อศักยภาพของรถ EV และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้รถ EV
เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและเตรียมพร้อมรับโอกาสจากแนวโน้มตลาด EV ที่จะเติบโตในอนาคต อีทรานได้วางแผนปรับองค์กร ก้าวจากสตาร์ทอัพสู่องค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ โดยตั้งคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) เพิ่มเติมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ศิโรตม์ เสตะพันธุ Managing Partner บริษัท เอ็กซ์ฟอร์แม็ท จำกัด มีประสบการณ์ด้านการเงินและการลงทุนมากกว่า 25 ปีเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง และ บริษัท เจพีมอร์แกน ฐิติ ตวงสิทธิตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Dole Packaged Foods มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน Coca-Cola, Mars, และ Royal Canin และธันวา มหิทธิวาณิชชา Partner บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการภาษีมากกว่า 15 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน บริษัท PricewaterhouseCoopers เพื่อวางแผนพัฒนาองค์กรและสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของ การบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนำไปสู่ การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต และตั้งเป้าหมายให้บริษัทฯ เป็นผู้นำให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติเข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญในบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 157,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท ในราคา 382.22 บาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ของทุนจดทะเบียนของ อีทราน ด้วยมูลค่ารวม 60.20 ล้านบาท ซึ่งจะชำระค่าหุ้น สามัญของ ETRAN โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในลักษณะการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) แทนการชำระด้วยเงินสด จำนวนไม่เกิน 31.5 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.72 บาท คิดเป็นมูลค่า 60.20 ล้านบาท (Share Swap) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นใหม่ของ อีทราน ต่อ 140.52 หุ้น ใหม่ของบริษัท
“การเข้าร่วมลงทุนในอีทรานสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ในการมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพ ในการเติบโตเพื่อสร้าง New S-curve ซึ่งเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ Growth Cycle ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจและต่อยอดจากธุรกิจเดิม อีกทั้งจะช่วย สนับสนุนให้ผลดำเนินการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด ได้ในอนาคต โดยคาดว่าอีทรานจะสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 เป็นต้นไป” กรรมการผู้จัดการ NDR กล่าว