กรมชลประทาน จัดกิจกรรมสื่อสัญจร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น คาดเริ่มสร้างก่อสร้างในปีพ.ศ.2568 แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2568 มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 8,450 ไร่ และประชาชน 1,958 ครัวเรือน ได้ใช้น้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในอนาคต
กรมชลประทานติดตามความก้าวหน้าอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ
เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหาร จัดกิจกรรมสื่อสัญจรลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามความคืบหน้า โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล รวมทั้งพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานานและในฤดูแล้ง และเพื่อบรรเทาความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วม ผู้นำชุมชนตำบลคลองชะอุ่น จึงได้มีหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นครอบคลุม 4 ด้าน มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม
เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า จะทำการศึกษาครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ทั้งกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นทั้งระยะก่อสร้างและระยะการดำเนินการ รวมทั้งการเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การออกแบบการก่อสร้างต่อไป
“ โครงการดังกล่าวมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระชุม ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน ซี) หน่วยงานของรัฐจึงต้องเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 เมษายน 2554 รวมทั้งการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาจึงมุ่งเน้นให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการยอมรับ” เฉลิมเกียรติ กล่าว
พัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุเก็บกักสูงสุด 4.56 ล้านคิว
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ พร้อมอาคารประกอบ ระบบชลประทาน ถนนเข้าหัวงาน ถนนทดแทน และถนนรอบอ่างเก็บน้ำ รวมทั้ง ค่าทดแทนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้น ใช้งบประมาณก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 450.51 ล้านบาท
สำหรับที่ตั้งหัวงานโครงการ ระดับเก็บกัก รูปแบบเขื่อน และระบบส่งน้ำชลประทานที่เหมาะสมของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 7 บ้านบางเตย ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยออกแบบให้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุเก็บกักสูงสุด 4.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงเขื่อนประมาณ 23 เมตร ความยาวเขื่อนประมาณ 160 เมตร พื้นที่เก็บกัก 480 ไร่ และระบบส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์โดยระบบท่อส่งน้ำและส่งลงลำน้ำเดิม
สรุปความเห็นระดับเก็บกักสูงสุดของอ่างเก็บน้ำตรงกันที่ +78 มร.ทก.
จากผลการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมทางด้านวิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นบางส่วน ซึ่งจะถูกน้ำท่วมจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ พบว่า ระดับเก็บกักของอ่างเก็บน้ำ ที่เหมาะสมที่สุด คือที่ระดับเก็บกักปกติ +77 ม.รทก. และที่ระดับน้ำสูงสุด +78 ม.รทก. โดยมีระดับสันเขื่อนดิน +84 ม.รทก. ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วม
“กรมชลประทานและที่ปรึกษา รวมทั้งชาวบ้าน สรุปตัวเลขตรงกันที่ +78 ม.รทก. ใช้ฝายพับได้ มีการออกแบบตามวิศวกรรมชลประทาน เพื่อสำรวจว่าใช้พื้นที่ส่วนใดบ้าง” เฉลิมเกียรติ กล่าว
ส่วนระบบท่อส่งน้ำแรงดันโน้มถ่วงและการส่งน้ำลงในลำน้ำเดิม เป็นระบบชลประทานแบบผสมผสาน การออกแบบระบบชลประทานเป็นระบบท่อส่งน้ำเหมือนโครงการอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยจะวางท่อตามแนวถนนหรือเส้นทางคมนาคม เพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษาและไม่เกิดผลกระทบต่อที่ดิน และทรัพย์สิน มีความยาวของท่อหลัก และท่อสายรอง รวมประมาณ 13.11 กิโลเมตร
อ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้ชาวบ้านในพื้นที่
การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ฯ ทำให้มีความมั่นคงทางด้านน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับพื้นที่รับประโยชน์โดยตรงจากอ่างเก็บน้ำ 4,300 ไร่ สามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในฤดูแล้งได้ นอกจากนี้ ยังได้สร้างฝายตามลำน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านตาวรรณ์ ฝายบ้านแสนสุข และฝายบ้านถ้ำลอด ตามลำน้ำคลองชะอุ่น อีก 4,150 ไร่ จำนวน 962 ครัวเรือน
เมื่อโครงการพัฒนาเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น จากอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ทั้งหมด 3 หมู่บ้านในตำบลคลองชะอุ่น ได้แก่ บ้านแสนสุข บ้านบางเตย และบ้านทับคริสต์ รวมพื้นที่ 4,300 ไร่ จำนวน 996 ครัวเรือน และจากฝายในลำน้ำอีก 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านตาวรรณ์ ฝายบ้านแสนสุข และฝายถ้ำลอด รวมพื้นที่รับประโยชน์ 4,150 ไร่ และ 962 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่รับประโยชน์รวม 8,450 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์รวม 1,958 ครัวเรือน สามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และช่วยบรรเทาความรุนแรงจากภัยน้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการ ได้แก่ ตำบลต้นยวนและตำบลคลองชะอุ่น ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชน
สร้างถนนทดแทน 3 เส้นทาง ให้ชาวบ้านสัญจร – เข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรม
จากสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน พื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการ และบริเวณโดยรอบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน มีโครงข่ายถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ จะส่งผลกระทบต่อโครงข่ายถนนดังกล่าวข้างต้น ทำให้ไม่สามารถเดินทางติดต่อกันระหว่างชุมชนต่างๆ และการเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรมได้
ในการประชุมปรึกษาหารือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลต้นยวน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษา ผู้นำท้องถิ่นและตัวแทนประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ ได้เสนอแนะให้ก่อสร้างถนนทดแทนเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างตำบล และระหว่างหมู่บ้าน และถนนบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ โดยได้พิจารณาถนนสำหรับโครงการเป็น 3 แนวเส้นทาง ดังนี้ 1) ถนนเข้าหัวงาน เป็นเส้นทางเข้าสู่หัวงานโครงการในระหว่างก่อสร้าง สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ในการเข้า-ออกโครงการ เพื่อดูแลบำรุงรักษาและบริหารอ่างเก็บน้ำ และเป็นเส้นทางในการสัญจรเชื่อมต่อกับถนนทดแทน โดยจะปรับปรุงเส้นทางเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขนาดความกว้าง 9 เมตร ยาว 1.40 กิโลเมตร 2) ถนนทดแทน เส้นทางเดิมที่ผ่านพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการ จะถูกน้ำท่วม ทำให้เส้นทางที่เชื่อมต่อกันระหว่างหมู่บ้านในตำบลคลองชะอุ่นและตำบลต้นยวนถูกตัดขาด แม้ว่าจะมีเส้นทางอื่นที่สามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นถนนที่อ้อมเขา จึงต้องก่อสร้างถนนทดแทน เพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและตำบล และการเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรม ขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 2.41 กิโลเมตร และ 3) ถนนรอบอ่างเก็บน้ำ เส้นทางเดิมที่ผ่านพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการ จะถูกน้ำท่วมทำให้เกษตรกรรอบอ่างเก็บน้ำไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรมได้ จึงจำเป็นต้องก่อสร้างถนนสายสั้นและขนาดเล็กตามขอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรมได้สะดวกขึ้น ขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 5.31 กิโลเมตร
จัดประชาพิจารณ์ร่วมกับท้องถิ่นให้ใช้เส้นทางเดิม พัฒนาเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ให้ยั่งยืน
ธงคม รัตนเสถียร รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 กล่าวถึง แนวทางการลดผลกระทบที่ประชาชนอาจจะไม่ได้รับความสะดวกขณะก่อสร้างว่า ทางกรมชลประทานได้วางแผนดำเนินการเป็นกระบวนการ ในขั้นเริ่มต้นโครงการ มีการประชาพิจารณ์ร่วมกับท้องถิ่นให้สามารถใช้เส้นทางเดิมได้ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ให้ยั่งยืน
แม้โครงการนี้จะเก็บน้ำได้เพียงบางส่วน บางส่วนต้องปล่อยทิ้งออกไป แต่ได้พิจารณาปริมาณน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีโทรมาตรในการพยากรณ์น้ำฝนและน้ำท่า และกำหนดระดับน้ำ มีฝายควบคุม ในช่วงปลายฤดูฝนจะยกกดฝายลง จะเก็บน้ำเพิ่มได้อีก เพื่อทดแทนพื้นที่ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบในช่วงแรก ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้ประหยัด โดยเก็บน้ำได้เพียง 1 ใน 7 ใช้ระบบท่อ และจะใช้ระบบสปริงเกอร์ เพราะในอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พืชที่ปลูกเป็นหลัก คือ พืชเศรษฐกิจ ใช้ระบบน้ำหยด ชาวบ้านจะใช้น้ำน้อย สามารถแบ่งปันได้หลายพื้นที่ตรงกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำ บริเวณคลองชะอุ่นที่มีปริมาณน้ำหลากไหลมา กรมชลประทานมองว่าถ้ามีการทดน้ำโดยฝายทดน้ำแล้วชาวบ้านสูบไปใช้บริเวณฝายใกล้เคียง ได้แก่ ฝายบ้านตาวรรณ์ ฝายบ้านแสนสุข และฝายถ้ำลอด จะได้กว่า 2,000 ไร่ รวมกับของเดิมอีก 4,300 ไร่
“การบริหารจัดการโครงการนี้ เป็นความท้าทายของกรมชลประทานที่อยู่ในพื้นที่ คือ โครงการชลประทาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งรับมอบหมายมาจากกรมชลประทาน และสำนักงานกรมชลประทานที่ 15 ในช่วงน้ำหลากก็ใช้ระบบโทรมาตรพยากรณ์น้ำหลาก พอน้ำจะหมด ใช้เครื่องมือนี้เปิดบานเก็บน้ำเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการน้ำโดยระบบท่อ ส่วนฝาย 3 แห่งนี้ใช้เครื่องสูบน้ำ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และความชุ่มชื้น ในส่วนของระบบนิเวศ ได้มีการประสานบูรณาการกับกรมป่าไม้ ในพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำให้เกิดเป็นความชุ่มชื้น ส่วนหนึ่งเป็นความชุ่มชื้นบริเวณอ่างเก็บน้ำ ส่วนหนึ่งใช้พื้นที่ป่าไป เราจะชดเชยโดยการปลูกป่า 3 เท่าของพื้นที่ป่าที่ใช้ คิดเป็นจำนวนมากกว่า 900 ไร่ และจะพัฒนาพื้นที่นี้เป็นต้นน้ำลำธาร” ธงคม กล่าว
ใช้เวลาเจรจา 30 ปี เน้นก่อสร้างให้คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 ชาวบ้านได้ถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ขอให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ วันนี้ (27 ก.ย. 2564) ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จโครงการหนึ่ง ภายใต้การนำของผู้นำชุมชน นายอำเภอ นายกเทศมนตรี กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน โดยใช้เวลาเกือบ 30 ปี ในการคุยเจรจาให้เข้าใจกัน ซึ่งโครงการนี้จะต้องสร้างให้คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
“ เดิมทีหลายท่านกังวลว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำ น้ำจะท่วมวัด โรงเรียน หมู่บ้านจะหายไปหมด แต่ถ้าเราไม่เก็บน้ำไว้ จะเกิดปัญหาทางการเกษตร ในช่วงนี้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป บางทีภาคใต้ฝนไม่ตก สวนทุเรียน และผลไม้ต่างๆ มังคุด ปาล์มน้ำมัน และยางเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ทำให้ภาคการเกษตรมีปัญหามาก การมีอ่างเก็บน้ำความจุ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยประชาชนได้ 4,300 ไร่ ด้านอุทกภัยมีน้ำหลาก เวลามีน้ำป่าแรงมาก ถนนตัดผ่านจะจมน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำ คือ การชะลอน้ำ สามารถป้องกันอุทกภัยได้อีกทางหนึ่ง” เฉลิมเกียรติ กล่าว
ในปีพ.ศ.2565 กรมชลประทานจะเตรียมการก่อสร้าง และออกแบบให้ชัดเจน ในส่วนของฝายบ้านตาวรรณ์มีการออกแบบก่อสร้าง สามารถจะของบประมาณได้ในปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) คาดว่าปีพ.ศ.2565 จะสามารถสร้างฝายบ้านตาวรรณ์เป็นฝายแรก พื้นที่ 2,000 ไร่ ส่วนในปีพ.ศ.2566 จะเริ่มก่อสร้างได้ โดยจะขอเงินสนับสนุนจากกองทุนกปร. ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าในปีพ.ศ.2568 จะเก็บน้ำได้
นอ.พนม หารือกรมชลฯ ได้ข้อสรุปตรงกันใน 2 ประเด็นสำคัญ
วิจารณ์ จันทวิจิตร นายอำเภอพนม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 แต่ลากยาวจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 30 ปี ส่วนใหญ่ประชาชนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลไม้ ทุเรียน และปาล์มน้ำมัน ถ้ามีอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร สวนปาล์มและทุเรียนจะดีมาก รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปเขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน ถ้ามาจากภูเก็ต ให้มาทางเขาหลักได้
“ประเด็นที่ฝากถึงกรมชลประทาน คือ ระดับสันเขื่อน ที่คาดการณ์ว่าจะน้ำท่วมถึงระดับไหน ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมตรงกันที่ระดับน้ำสูงสุด +78 ม.รทก.และถนนที่ชาวบ้านสัญจรไปมา โดยชาวบ้านต้องการให้สร้างถนนทดแทน เพื่อจะได้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านได้ ซึ่งกรมชลประทานยืนยันจะทำตามที่ชาวบ้านร้องขอ” วิจารณ์ กล่าวย้ำ
อ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน
ไพฑูรณ์ คงเดิม นายกเทศมนตรีตำบลคลองชะอุ่น อำเภอนครพนม กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จมีการตั้งผู้ใช้น้ำและการบริหารจัดการแล้วคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะเกษตรกรที่ปลูกสวนปาล์ม ผลไม้ สามารถสูบน้ำไปใช้ได้ โดยได้ทำการทดสอบปริมาณปาล์มน้ำมันที่อ่างเก็บน้ำบางทรายนวลฯ พบว่าถ้าไม่รดน้ำจะได้ผลผลิต 3 ตันต่อปีต่อไร่ ในช่วงหน้าแล้งผลิตได้ 1 ตันต่อปีต่อไร่ แต่ถ้ามีน้ำจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้
ด้านการท่องเที่ยว ที่นี่มีป่าธรรมชาติ โฮมสเตย์ สามารถล่องแพที่นี่แล้วไปเที่ยวต่อที่เขื่อนเชี่ยวหลานได้ และยังเป็นเส้นทางผ่านจากจังหวัดกระบี่ไปยังเขื่อนเชี่ยวหลานได้
มนัส จันทร์วิไล ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำบาดาลบางทรายนวล โครงการอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำบางทรายนวลฯ เป็นโครงการที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการใช้น้ำทั้งหมด 100 % เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ทุเรียน ลองกอง และปาล์มน้ำมันที่ใช้น้ำมากที่สุด เป็นเวลากว่า 10 ปี โดยจะเก็บเงินเกษตรกรไร่ละ 50 บาท เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา
ความโดดเด่นของอ่างเก็บน้ำบางทรายนวลฯ คือ ให้ชาวบ้านทุกคนมีสระน้ำของตัวเอง โดยเฉลี่ยมีพื้นที่รับน้ำ1,500-1,200 ลูกบาศก์เมตร บนพื้นที่ประมาณ 25-30 ไร่ ปัจจุบันชาวบ้านแบ่งพื้นที่ให้ลูกหลาน เหลือพื้นที่ 10 ไร่
โครงการอ่างเก็บน้ำสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะสำเร็จได้อยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจของหน่วยที่งานที่รับผิดชอบอย่างกรมชลประทาน ที่ปรึกษา ผู้นำชุมชน นายอำเภอ นายกเทศมนตรี กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งชาวบ้านที่จะผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งอยู่บนประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ และความคุ้มค่าในการก่อสร้างตามหลักเศรษฐศาสตร์เป็นสำคัญ