รมว. พลังงาน เล็งพิจารณาหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน ประเภทบ้านอยู่อาศัย หรือโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หลังอัตรารับซื้อเดิมที่รับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วยไม่จูงใจมากพอ แย้มอาจปรับราคาขึ้น รวมถึงหารือมาตรการอื่นๆ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหวางการพิจารณาระดมความเห็นจากผู้เชียวชาญ โดยเฉพาะด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์รูฟท็อป ประมาณ 20-30 คน เพื่อหาข้อสรุปในการปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน ประเภทบ้านอยู่อาศัย หรือโครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งใช้เอง และรัฐรับซื้อไฟฟ้าในอัตรารับซื้อที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งล่าสุดยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร
“อัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วยที่ผ่านมายอมรับว่ายังไม่จูงใจ ดังนั้น เราก็จะมาหารือกัน และดูความเป็นไปได้ในการจะปรับหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ อย่างไร โดยอัตราที่เหมาะสมเช่น 2.00-2.20 บาทได้หรือไม่ เพื่อทำให้เกิดการติดตั้งมากขึ้น เพราะผมมีแนวคิดสนับสนุนให้ทุกบ้านติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และเหลือก็ขาย จะทดลองนำร่องเป็นโซนนิ่ง เริ่มในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีความเหมาะสมก่อน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับซื้อใหม่ จะต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft และหากมีเงื่อนไขอื่นๆ มาสนับสนุน จะนำมาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้เกิดแรงจูงให้ให้ประชาชนมาร่วมโครงการมากขึ้น เพราะจากข้อมูลล่าสุดมีผู้สนใจสมัครโซลาภาคประชาชนแค่เพียง 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 100 เมกะวัตต์ และปี 2563 ควรเป็น 100-200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้จากรายงานล่าสุดจากกระทรวงพลังงาน เผยตัวเลขการขอเข้าร่วมโครงการไฟฟ้าภาคประชาชน ในปี 2562 พบมีผู้ลงทะเบียนและยื่นเอกสารเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,513 ราย คิดเป็น 8,204 กิโลวัตต์ โดยผ่านการตรวจสอบทางด้านเทคนิคแล้ว 642 ราย คิดเป็น 3,379.24 กิโลวัตต์ และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น 470 ราย คิดเป็น 2,519.739 กิโลวัตต์ ขณะที่โครงการภาคประชาชนในปี 2563 ข้อมูล ณ วันที่ 27 เมษายน พบว่า มีผู้ลงทะเบียนและยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 183 ราย คิดเป็น 997.22 กิโลวัตต์ ทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 58 ราย คิดเป็น 338.720 กิโลวัตต์ และทำการซื้อขายเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งสิ้น 6 ราย คิดเป็น 31.15 กิโลวัตต์