บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืนในอนาคตสำหรับประเทศไทย นำมาซึ่งการจัดงานสัมมนา 2019 Shell Forum โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้มีระบบพลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Vision 2050: Energy Transition for the Future” เป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานในปี ค.ศ. 2050
โดยมี ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ เคส พิเทอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ดร. มัลลิกา อิชวารัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและที่ปรึกษาด้านนโยบาย เชลล์ กรุ๊ป สแตรทิจี้ รวมทั้ง อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น พลังงานใหม่ การเดินทาง ความเป็นเมืองและเทคโนโลยี เข้าร่วมงานสัมมนา 2019 Shell Forum ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับพันธกิจเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน นับว่าบริษัท เชลล์ ประเทศไทย อยู่ในระยะเริ่มต้นของกิจกรรมการฟื้นฟูป่าเพื่อลดความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และสำหรับการดำเนินงานของเชลล์ฯ ยังได้ใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ตามสถานีบริการน้ำมันในสาขานำร่อง สำนักงานสาขาต่าง ๆ ของเชลล์ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และจะนำมาใช้ที่คลังน้ำมันในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินโครงการมากมายเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2568 โดยถือเป็นการผลักดันให้มีการใช้กลไกกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และผู้บริโภค พัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมโครงการต่าง ๆ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอน รวมถึงวิธีธรรมชาติอย่างการปลูกป่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดทำแผนและนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์ ตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานในการเข้ามาช่วยสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดี เราเชื่อว่าทุกคนมีบทบาทในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งระบบ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ทางเลือกของผู้บริโภค เทคโนโลยี ไปจนถึงนโยบายภาครัฐในการช่วยลดคาร์บอนในระดับองค์รวมเชิงเศรษฐกิจ และแนวทางของเชลล์จะเดินหน้าผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ระบบพลังงานสะอาด และดีต่อสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมุ่งหวังที่จะส่งมอบพลังงานทางเลือกที่สะอาด น่าเชื่อถือ และราคาสมเหตุสมผลให้แก่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน เพราะเราตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มาพร้อมกับบทบาทของพลังงานที่จะเข้ามาช่วยรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน หน้าที่หลักของสังคมและเชลล์ คือหาหนทางส่งมอบพลังงานให้เพียงพอด้วยการปล่อยปริมาณคาร์บอนให้น้อยที่สุด”
ดร.มัลลิกา อิชวารัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและที่ปรึกษาด้านนโยบาย เชลล์ กรุ๊ป สแตรทิจี้ ได้กล่าวปาฐกถา โดยได้นำเสนอรายงาน Sky Scenarios ซึ่งเป็นรายงานจำลองสถานการณ์ Shell Scenarios ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นการนำเสนอความเป็นไปได้ทางเทคนิค ว่า “ความท้าทายสำหรับสังคมในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ชีวิตของพวกเราต้องพึ่งพาพลังงานเสมอไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ที่ไหนก็ตาม และเมื่อสังคมต้องเติบโตก้าวหน้าต่อไป เราต้องหาทางที่จะส่งมอบพลังงานมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนประชากรทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดก๊าซเรือนกระจกลงอีกมากด้วย แบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์ทำให้เห็นภาพในอนาคตที่พลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของระบบพลังงานโลก แบบจำลองสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การทำนายหรือแผนธุรกิจและไม่ใช่นโยบายของเชลล์แต่อย่างใด แต่พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามุมมองจากแบบจำลองสถานการณ์ของเราจะจุดประกายส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรและโครงการต่าง ๆ ทั่วโลกและในระดับประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพลังงานที่มีประสิทธิภาพของเชลล์ อาทิ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่หลากหลาย ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น Gas-to-Liquid และเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ยางมะตอยที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเสริมความทนทาน ความยั่งยืนและเสริมประสิทธิภาพให้ท้องถนน ซึ่งพลังงานสะอาดจะเพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตของเมืองต่าง ๆ ทั้งยังเชื่อมโยงชุมชนในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และทางด้านการส่งเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมของผู้คนอีกด้วย