จากข่าวสารด้านพลังงานในปี 2561 ที่ผ่านมา ก็พอจะทำให้เห็นภาพทิศทางของพลังงานไทยได้ว่าจะมีแนวโน้มไปทางใด ด้วยกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พุ่งแรงน่าน่าดีใจ ทำให้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น เรามาดูกันว่า ในปีพ.ศ. 2562 เทรนด์ใหญ่ๆ อะไรบ้าง ที่น่าจับตามอง
Go Green รักษ์โลก ประหยัดพลังงาน
ในช่วงผ่านมา เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแส Go Green หรือกระแสอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นค่อนข้างมาแรง ซึ่งความจริงการรณรงค์นี้ได้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่เพิ่งจะกลับมาฮือฮาและน่าสนใจอีกครั้ง เมื่อทุกส่วน ทุกฝ่ายเปิดประตูรับกระแสรักษ์โลกดังกล่าว เพราะเล็งเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะ หรือพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่รัฐบาลมีนโยบายไทยนิยมยั่งยืน ทำให้เอกชนเริ่มมีการเคลื่อนไหว และกลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง
การประหยัดพลังงานของภาคเอกชน ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกบริษัท หรือทุกโรงงานตระหนัก และเห็นถึงความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานได้จริงๆ ลดการใช้และการจ่ายเงินออกจากกระเป๋า ซึ่งโครงการที่จะช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้มีมากมายหลายโครงการ เพราะทุกหน่วยงานของภาครัฐเองก็เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)
ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศตรงตามความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ในส่วนของกระทรวงพลังงานเรามุ่งเน้นการพัฒนา เกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ให้ชุมชนรู้คุณค่าของพลังงานที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำรวจศักยภาพด้านพลังงานทดแทนในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน จากนั้นจะเข้าไปแนะนำให้ประชาชนใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชุนทั้งขยะ ชีวมวล หรือแม้แต่แสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาเป็นพลังงานทดแทน ต้องส่งเสริมให้ประชาชนเชื่อมั่นเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทน จนพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนผ่านโครงการต่างๆ เช่น ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผ่านมาประชาชนขานรับนโยบายเป็นอย่างดี ชุมชนไหนมีความพร้อมรัฐบาลพร้อมจะเข้าไปส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
“กระทรวงพลังงานพร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ในอนาคตจากระดับ 10% ในปัจจุบัน โดยจะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานชีวมวล ควบคู่พลังงานแสงอาทิตย์ โดยกระทรวงพลังงานเตรียมกำหนดกรอบระยะยาวไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใน 10-20 ปีข้างหน้า โดยจะพัฒนาทั้งพลังงานทดแทนในส่วนของไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งกรอบแผนงานจะกำหนดเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2561” ศิริกล่าว
โซลาร์เซลส์ พลังงานทดแทนที่มาแรงที่สุด
เรารู้จักคำว่า โซลาร์เซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ กันมานานมากแล้ว แต่ในแง่ของความเข้าใจ และการติดตั้งโซลาร์ในประเทศไทยจริงๆ นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นที่นิยมนัก อาจเป็นเพราะราคาที่ค่อนข้างสูง และความกังวลต่างๆ ทั้งในเรื่องต้นทุน และความไม่เสถียร แต่กระแสแนวโน้มของโซลาร์ก็ดีขึ้นทันตาเห็น เมื่อหลายปีมานี้ มีการติดตั้งโซลาร์เซลส์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นโมเดลนำร่องชี้ให้เห็นว่า โซลาร์เซลส์ ติดตั้งแล้วคุ้มค่า ประหยัดค่าไฟฟ้า และเป็นพลังงานสะอาดรักษ์โลกอีกด้วย และเมื่อมีความต้องการติดตั้งเพิ่มมากขึ้น ก็มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นการแข่งขันทางการตลาด แน่นอนว่า ข้อดีของการแข่งขันคือ ทำให้ราคาการติดตั้งโซลาร์เซลส์ในปัจจุบันถูกลงหลายเท่าตัว ทำให้ภาคประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจ เรื่องการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลส์มากขึ้น โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป
ดร.ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ได้กล่าวสรุปไว้ ในงานสัมมนา ไทยแลนด์ไลท์ติ้งแฟร์ว่า จุดเด่นของโซลาร์รูฟของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 คือ
– จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟระดับ 700-1000 MWp
– ค่าลงทุนลดลงจากอดีตมาก เหลือเพียง 30,000-40,000-50,000 บาท ต่อกิโลวัตต์ KWp และคืนทุนภายใน 4-6-7 ปี
– ต้นทุนค่าไฟฟ้า ต่ำกว่าซื้อไฟจากการไฟฟ้า
– โครงการโซลาร์รูฟเสรี คือใช้ไฟฟ้าเองทั้งหมด
– โครงการโซล่ารูฟภาคประชาชน คือ สามารถขายไฟส่วนเกินจากการใช้ให้ กฟน. กฟภ.
– เอกชนทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซล่าเสรีกันเอง
– Third Party Access คือ เอชนจะสามารถใช้สายไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฯ ในการขนส่งกระแสไฟซื้อขายกัน โดยจ่ายผ่านค่าสายไฟให้กับการไฟฟ้า
– จะเริ่มมีการใช้ Battery ในการเก็บไฟฟ้า เพื่อใช้ในเวลาที่ต้องการและเหมาะสม
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อมัการแก้ไขกฎระเบขียบต่างๆ เกี่ยวกับการให้บริการ
จะเห็นได้ว่า โซลาร์เซลส์ชนิดติดตั้งบนหลังคา นับเป็นเทรนด์พลังงานที่ใกล้ตัวขึ้นมาทุกทีและเป็นพลังงานธรรมชาติที่ดูมีความหวังมากที่สุด และน่าจับตามองเป็นอย่างมาก ในปี 2562 นี้
รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่นอน
กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ยังคงมีความตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย อีวี (EV) กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุผลดังนี้
- สินค้าหรือเทคโนโลยีเหล่านั้นต้องใช้งานง่าย สะดวกสบาย เพื่อง่ายต่อการปรับเปลี่ยนไปใช้ ยกตัวอย่างเช่น การชาร์จไฟได้ง่ายที่บ้านเหมือนกับการชาร์จโทรศัพท์มือถือ ก็จะช่วยผลักดันให้มีการใช้งานมากขึ้น รวมไปถึง
- การมีจุดชาร์จที่ครอบคลุมเส้นทางของผู้ใช้งาน (ในกรณีที่ใช้รถเป็นระยะ) และ
- แรงสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะทำให้ Cost ราคาของรถยนต์ไฟฟ้านั้นถูกลง เป็นตัวเร่งให้เกิดตลาดเกิดผู้ใช้โดยเร็วยิ่งขึ้น
“สำหรับประเทศไทยอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มโดยเป็นลักษณะนำเข้า ราคาสูง และยังถูกนำมาใช้ไม่มากนัก ส่วนจุดชาร์จในประเทศจะมีมากกว่า 200 จุดในสิ้นปีนี้ และคาดว่าปี 2019 จะเริ่มเห็นการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และไทยจะกลายเป็นตลาดหลักและผู้นำอาเซียน”ผศ.ดร.ยศพงษ์กล่าว
แม้จะยังมีความกังวลในหลายๆ เรื่องสำหรับผู้ใช้ แต่บรรดาค่ายรถทั้งหลาย กลับมุ่งหน้าที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาถึงมือคนไทยอย่างไม่รีรอ
โรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมความพร้อมในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถใช้ได้จริงในประเทศไทย ซึ่งในปี 2562 บริษัทจะลงทุนกว่า 1,180 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อผลิตไฟฟ้าและรองรับความต้องการในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ และยังมีแผนจะสร้างเครือข่ายขยายจุดติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด โดยวางแผนจะสร้างสถานีชาร์จรวมกว่า 200 จุด ครอบคลุมพื้นที่ผู้จัดจำหน่ายทั้ง 32 แห่งทั่วประเทศ |
กฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันค่ายรถยนต์ต่างเดินตามกระแสโลก โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ในบ้านเราบีเอ็มฯได้ลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ 50 สถานี ซึ่งจะดำเนินการได้ครบถ้วนภายในปีนี้ ผลของการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวส่งผลให้ปีนี้รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีอัตราการเติบโตสูงถึง 112% |
ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2573 จะลดการผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้ได้ 50% และในปี 2593 จะลดเหลือเพียง 90% โดยตั้งเป้าหมายให้การผลิตรถยนต์เป็นรถไฟฟ้าแบบไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด รวมไปทั้ง EV ให้ได้ 95% ของการผลิตรถทั้งหมด |