รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า หลังจาก กพช. เห็นชอบแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเพื่อรักษาระดับเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มดิบ ด้วยการขยายส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล B10 ให้ต่ำกว่า B7 ที่ 2 บาท/ลิตร และลดส่วนต่างให้น้ำมันดีเซล B20 ต่ำกว่า B7 ที่ 3 บาท/ลิตร พร้อมบังคับใช้ให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐาน และให้ B7 และ B20 เป็นทางเลือก จากนี้ไปก็ต้องมองเรื่องการศึกษาโครงสร้างในส่วนของกลุ่มเบนซินที่เกี่ยวข้องกับเอทานอล จะดำเนินการส่งเสริมอย่างไรให้รายได้ตกถึงมือเกษตรกร คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปีนี้ โดยการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 แล้วให้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน ต้องรอดูขั้นตอนต่อไป พร้อมยอมรับปัจจุบันมีน้ำมันหลายประเภทเกินไป
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา มิติคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ (กพช.) เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันปาล์มดิบของประเทศ และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง โดยการขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ให้ต่ำกว่า B7 ที่ 2 บาท/ลิตร และลดส่วนต่างให้น้ำมันดีเซล B20 ต่ำกว่า B7 ที่ 3 บาท/ลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 พร้อมทั้งเตรียมบังคับใช้ให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐาน และให้ B7 และ B20 เป็นทางเลือก เริ่ม 1 มกราคม 2563 ในขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาน้ำมันในกลุ่มเบนซินที่เกี่ยวข้องกับเอทานอลที่นำมาผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ เพิ่มศึกษาหาแนวทางในการส่งเสริม ให้รายได้ตกถึงมือเกษตรกร โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปแล้วเสร็จภายในไม่เกินสิ้นปีนี้
“การยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แล้วให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 มาเป็นน้ำมันขั้นพื้นฐานแทนนั้น เราคงจะต้องมาดูขั้นในตอนต่อไป หลังจากที่ได้มีการทำในส่วนของไบโอดีเซลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็จะพยายามให้แล้วเสร็จ เห็นภาพชัดในสิ้นปีนี้ ว่าที่สุดแล้ว น้ำมันของไทยจะเหลือกี่ประเภท ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันอาจจะมีมากเกินไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน สำหรับแนวทางการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 แล้วให้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทนภายในสิ้นปีนั้น สามารถทำได้โดยไม่เป็นปัญหาอะไร เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ E20 นั้น มีการให้บริการเกือบทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าว คาดต้องรอข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2018 ที่จะนำมาพิจารณาให้สอดรับกับแผ่นพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP 2018 โดยตามแผน AEDP 2018 นั่น จะคำนึงถึงทิศทางการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินในอนาคต ที่จะมีสัดส่วนลดลง จากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรวมถึงเรื่อง พรบ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งภายใน 3-7 ปี จะมีการปรับลดสัดส่วนเอทานอลและไบโอดีเซลลง ซึ่งสัดส่วนเอทานอลและไบโอดีเซลจะลดลงจากแผน AEDP 2015 โดยเอทานอลจะลดจาก 11.30 ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 6.6 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ไบโอดีเซลจากเดิม 14 ล้านลิตรต่อวัน จะลดเหลือ 8 ล้านลิตรต่อวัน