เมื่อบ้านหรืออาคารสำนักงานได้รับการออกแบบโดยไม่เอื้ออำนวยต่อการประหยัดพลังงาน ทำให้เกิดปัญหาการสิ้นเปลืองพลังงาน ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้น “โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานและบ้านที่อยู่อาศัยด้วยระบบการตรวจวัดการใช้ไฟฟ้าแบบออนไลน์และการควบคุมโหลดไฟฟ้า” โดยการสนับสนุนของ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งเป็นโครงการวิจัยออกแบบ พัฒนา สร้างอุปกรณ์ เพื่อผลักดันให้งานวิจัยสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
“โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานและบ้านที่อยู่อาศัยด้วยระบบตรวจวัดการใช้ไฟฟ้าแบบออนไลน์และการควบคุมโหลดไฟฟ้า” ได้ทำการศึกษาวิจัย พัฒนา และทดสอบระบบตรวจวัดการใช้พลังงานไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าของเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย โดยได้มีการพัฒนาระบบศูนย์จัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) เพื่อทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า อาทิ การวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า การเก็บบันทึกข้อมูลแบบต่อเนื่องโดยใช้การสื่อสารแบบไร้สายในการรับและส่งข้อมูล การวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าและประสิทธิภาพพลังงาน และการแจ้งเตือนและรายงานผลแบบออนไลน์
ผศ. ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพตึกด้วยวิธีที่เรียกว่า Energy Audit โดยการเข้าไปตรวจสอบการใช้พลังงานและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยวิธีบริหารจัดการควบคุมระยะไกลแบบออนไลน์และการควบคุมโหลดไฟฟ้า ที่ตรวจวัดควบคุมทั้งอุณหภูมิและระดับความชื้นให้มีความพอดี สามารถเปลี่ยนอาคารหรือบ้านให้อยู่สบายพร้อมกับประหยัดพลังงานได้ นำไปสู่การเป็น Smart Home และ Smart Building ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้ทดลองเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ อาคารสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับอาคารของ สนพ. นั้น มีการใช้ไฟฟ้า 3.2-3.3 ล้านบาทต่อปี โดย 60% จะอยู่ในส่วนของระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Chiller ระบบคอมพิวเตอร์20% และระบบแสงสว่าง 7.7% เป้าหมายของอาคาร สนพ.คือการปรับปรุงระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง การดำเนินการใช้งบประมาณ 1.6 ล้านบาท โดย Energy Audit เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนหลอดตะเกียบเป็นหลอดแอลอีดี ติดตั้ง Motion Sensor Comfort Zone จำนวน 100 จุด รวมไปถึงการสร้างสมดุลของลมและน้ำ ท้ายที่สุดหลังจากตรวจเช็กสุขภาพตึก พร้อมทั้งทำการฉีดยาให้ตึก ช่วยให้อาคารของ สนพ.สามารถประหยัดพลังงานประมาณ 3.3 แสนบาทต่อปี ในขณะที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต่างกับอาคาร สนพ. นั่นก็คือ เครื่องปรับอากาศจะเป็นขนาดเล็ก การดำเนินการใช้งบประมาณ 6 แสนบาท เริ่มตั้งแต่ปรับเปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี ควบคุมเครื่องปรับอากาศ ติดตั้ง Motion Sensor ส่งผลประหยัดได้ถึง 5 หมื่นบาทต่อปี
ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้านนั้น ยังไม่ค่อยคำนึงถึงมากนัก แต่ละบ้านส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับเรื่องความปลอดภัยมากกว่า (Security) โดยการสั่งการและควบคุมผ่าน Smart Phone การตรวจเช็กอุณหภูมิ ความชื้น การเปิด-ปิดไฟ ล่าสุดมีบ้านที่เข้าร่วมแล้วจำนวน 20 หลัง มีการติด Power Meter ควบคุมระบบปรับอากาศ จำนวน 3-5 ชุด แต่สำหรับการติดตั้ง Power Meter จะขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านแต่ละหลังด้วย
ล่าสุด โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานและบ้านที่อยู่อาศัยด้วยระบบตรวจวัดการใช้ไฟฟ้าแบบออนไลน์และการควบคุมโหลดไฟฟ้า ได้จดสิทธิบัตรต่อยอดระบบเพื่อนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงต่อไป