แนวทางการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน คำพูดที่ดูเหมือนเป็นนามธรรม ตัวชี้วัดอะไรถึงจะเรียกว่าความยั่งยืนที่สำเร็จแล้ว ดังนั้นการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดเป็นหมุดหมายของการดำเนินงานที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา เสมือนเป็นขั้นบันไดของความสำเร็จในแต่ละขั้นตอน และส่วนหนึ่งเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนทำงาน และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการตรวจสอบระหว่างทางก่อนถึงเป้าหมาย ให้มั่นใจว่าเดินมาถูกทาง ดังกรณีศึกษาเมืองเก่าน่าน 1 ใน 6 พื้นที่พิเศษของ อพท. ที่วันนี้กำลังมุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทาง (Distination)แห่งความยั่งยืนในระดับโลก ด้วยการเตรียมความพร้อมยกระดับเมืองเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในปีพ.ศ. 2564
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 เห็นชอบประกาศน่านเป็นพื้นที่พิเศษ ครอบคลุม 5 ตำบล รวมพื้นที่ 138.37 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เขตอำเภอเมือง ตำบลในเวียง ตำบลดู่ใต้ ตำบลนาซาว ตำบลบ่อสวก เขตอำเภอภูเพียง ตำบลม่วงตึ๊ด รวมกันเป็นพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ด้วยแนวคิดของยุทธศาสตร์การพัฒนา “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต” ซึ่งมีจุดเด่นของพื้นที่น่านที่ความเข้มแข็งของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และโบราณสถานที่ยังตกทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในพื้นที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามไว้ได้อย่างสมบูรณ์
GSTC รหัสของความยั่งยืน
การพัฒนาเมืองเก่าน่าน โดยหลักการ อพท. ใช้รูปแบบคล้ายกันกับพื้นที่อื่นๆ คือ ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ซึ่งเป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) มีทั้งหมด 4 มิติ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงเรื่องความปลอดภัยนักท่องเที่ยว 2.สังคมเศรษฐกิจ 3.วัฒนธรรม และ4.สิ่งแวดล้อม โดยอพท. จะนำเกณฑ์ 4 มิติ ซึ่งมีทั้งหมด 41 ข้อ 105 ตัวชี้วัด ไปทาบกับทุกพื้นที่ที่เราลงไปทำงาน เพื่อจะได้ทราบว่าควรต้องทำอะไรบ้าง
“โดย GSTC เป็นเกณฑ์ที่มีความเป็นสากล มีข้อดีคือเป็นเกณฑ์ที่กำหนดเป้าหมายไว้กว้างๆ ทำให้สามารถปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่และทุกชุมชนของประเทศไทยโดยดูจากความพร้อมของพื้นที่เป็นหลัก” ดร.ชูวิทย์ กล่าว
ในส่วนของการยกมาตรฐานชุมชน อพท. มีเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมหรือ Co-creation ให้ทุกคนได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ ภายใต้ความร่วมมือนี้จะดำเนินการโดยการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเป็นศูนย์รวมความแต่ละความรู้ความสามารถที่จะมาประกอบกับเป็นการบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง อาหาร ที่พัก กิจกรรมการท่องเที่ยว นักสื่อความหมาย สินค้าของที่ระลึก โดยชมรมจะทำงานร่วมกับ อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องที่กำหนดขึ้นมา ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมท่องเที่ยว สถาบันการศึกษาทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางด้านวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณี และพัฒนาให้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนและบริหารจัดการกันเองภายใต้หลักการทำงานที่ อพท. วางไว้
“อพท. ใช้หลักการพัฒนาตามแนวทางเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ผนวกกับองค์ความรู้ของ อพท. ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือ CBT Thailand มาพัฒนาให้กับท้องถิ่นและชุมชนเพื่อยกระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐานเดียวกัน” ดร.ชูวิทย์ กล่าว
เมื่อการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ถึงจุดหนึ่งต้องมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ถือเป็นความ
สำเร็จในแต่ละขั้นตอน อพท. จึงเริ่มส่งชุมชนที่ได้พัฒนามีมาตรฐาน นำส่งเข้าประกวด ตั้งแต่ระดับประเทศ รับดับภูมิภาค และระดับโลก
จากระดับประเทศสู่เป้าหมายระดับโลก
ในส่วนของพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน จึงมาลงตัวที่เป้าหมายการดำเนินงาน และเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง อพท. นำชุมชนเข้าสู่เวทีการประกวด โดยในปีพ.ศ. 2560 ชุมชนตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) หรือรางวัลกินรี ระดับดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถือเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จ นำความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชน และชาวเมืองน่าน ซึ่งรางวัลนี้เป็นเครื่องการันตีให้กับการทำการตลาดให้กับชุมชนบ่อสวกอีกมากมาย
ต่อมาในปีพ.ศ. 2563 ตำบลในเวียง ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2020 หรือ TOP 100 2020 นอกจากนั้น อพท. ยังนำส่งผลสำเร็จของการพัฒนาอีก 2 กลุ่มที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้กับการท่องเที่ยวในเมืองน่านและแบรนด์น่านเน้อเจ้าจนได้รับรางวัลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) เป็นรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative และรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Youth Empowerment Initiative DASTA NAN Youth Club ซึ่งเป็นรางวัลจากความเข้มแข็งของกลุ่มเยาวชนที่เป็นกำลังในการสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม หากเขาได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อพท. เป็นผู้ประสานและอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมมือกันทำงานในหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งภายใต้เป้าหมายเดียวกัน โดยมีทั้งชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น อพท. 6 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างสรรค์ผ่านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงสร้างทางสังคมและต้นทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนและเกิดเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนทำให้
ในปีพ.ศ. 2564 อพท. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมให้กับจังหวัดน่าน เพื่อเข้าสู่การประเมินเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN ) ขององค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และนี่คือเป้าหมายสูงสุดของความสำเร็จของการพัฒนาความยั่งยืนให้กับพื้นที่หรือเมืองเล็กๆ อย่างจังหวัดน่านแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ได้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน และทำการตลาดได้บนมาตรฐานการบริหารจัดการที่หน่วยงานระดับโลกให้การยอมรับ