นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการทดลองเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และการเปิดท่าเทียบเรืออัจฉริยะสะพานพุทธฯ หรือท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ณ ท่าเรือ แคท ทาวเวอร์ กสท. เขตบางรัก กรุงเทพฯ
วันนี้ (22 ธ.ค. 63) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการทดลองเดินเรือโดยสารไฟฟ้าแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการเชื่อมการเดินทางด้วยระบบไฟฟ้าสาธารณะ ล้อ ราง เรือ เข้าด้วยกัน โดยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเรือแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ากับการเดินทาง รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถใช้บัตรโดยสารร่วมกันได้แบบไร้เงินสด
ในโอกาสนี้ หลังพิธีเปิด พลเอกประยุทธ์ฯ ได้นั่งเรือไฟฟ้า “MINE Smart Ferry” จากท่าเรือ แคท ทาวเวอร์ ไปยังท่าเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเปิดท่าเทียบเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเยี่ยมชมโครงการนำร่องในการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ ป้ายอัจฉริยะแจ้งเวลาเรือเข้าเทียบท่า ระบบโซล่าเซลล์ไฟส่องสว่างภายนอกอาคาร ฯลฯ
สำหรับเรือโดยสารไฟฟ้า “MINE Smart Ferry” ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแบตเตอรี่ Li-Ion ขนาด 685-800 kWh ผลิตจากประเทศไต้หวันและประเทศไทย ที่ได้รับมาตรฐานสากล สามารถชาร์จไฟได้เร็วภายใน 20 นาที โดยมีระยะทางต่อการชาร์จได้สูงสุด 80-100 กิโลเมตร ตัวเรือยาวตลอดลำ 23.97 เมตร กว้าง 7 เมตร ความลึกตัวเรือ 2.3 เมตร มีห้องโดยสารที่กว้างขวาง ห้องโดยสารติดตั้งเครื่องปรับอากาศและระบบฆ่าเชื้อโรค สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 คนต่อเที่ยว มีเส้นทางการเดินเรือให้บริการระหว่างท่าเรือพระนั่งเกล้า – ท่าเรือสาธร ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงต่อเที่ยว และออกให้บริการในทุกๆ 5-15 นาที โดยมีสถานีเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ได้ที่ท่าพระนั่งเกล้า ท่าพระราม 7 ท่าบางโพ ท่าพรานนก และท่าปากคลองตลาด
เรือพลังงานไฟฟ้า “MINE Smart Ferry” ที่ให้บริการขนส่งมวลชนในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งและการสัญจรทางบกและทางรางอย่างลงตัว ลดปัญหาการจราจร ประหยัดค่าพลังาน มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความปลอดภัยในการเดินทาง ไร้มลพิษ และไร้ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี คืนสภาพแวดล้อมที่สวยงาน และช่วยส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยวในลำน้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ การพัฒนาเรือไฟฟ้าฯ และท่าเรืออัจฉริยะฯ ดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จในความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยกรมเจ้าท่า และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้นำยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ปี พ.ศ.2563 มาเริ่มให้บริการในระบบการขนส่งผู้โดยสารทางน้ำ พร้อมพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs ) อันเป็นการยกระดับเรือโดยสารและท่าเรือให้ทันสมัย สะดวกปลอดภัย ไร้มลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา: FB Page – ไทยคู่ฟ้า