การลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) อย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ แหล่งเอราวัณและบงกชผ่านพ้นไปแล้ว หลังกระทรวงพลังงาน ลงนามสัญญากับ ปตท.สผ.และมูบาดาลา ของยูเออี ผู้ชนะการประมูลไปเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากว่า 10 ปี จนผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหวั่นเกรงกันว่า ไทยกำลังเข้าสู่ความเสี่ยงของวิกฤตการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565 โดยการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในครั้งนี้โปร่งใสเป็นธรรม ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกับทุกบริษัท ทุกขั้นตอนเปิดเผยต่อสาธารณชน และความกังวลว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะแพง ทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดให้ข้อเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคัดเลือกผู้รับสิทธิ ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาคงที่ต่ำที่สุดทั้ง 2 แปลง อยู่ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง
สำหรับผู้ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ แหล่งเอราวัณ คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้น 60% ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา ถือหุ้น 40% ส่วนผู้ชนะการประมูลแหล่ง บงกช คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้น 100% นั้น การลงนามสัญญาในครั้งนี้ได้ถือเป็นปรากฏการณ์หลายด้านในแวดวงพลังงานไทย และเป็นความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนด้านการสำรวจปิโตรเลียมของไทย ที่หยุดชะงักงันมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่การสิ้นสุดการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 20 ในปี 2550 ถือเป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ให้พลังงานไทยสามารถเดินหน้า และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
โดยแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ และ บงกช ถือเป็นหัวใจหลักของก๊าซธรรมชาติของประเทศ เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากทั้ง 2 แหล่งนี้ มีปริมาณสูงถึง 2.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือมากถึงราวๆ 70% ของกำลังการผลิตก๊าซที่ได้ทั้งหมดในประเทศ และที่สำคัญคือ ก๊าซที่ได้จากแหล่งผลิตทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าให้กับคนไทยทั้งประเทศ
อีกหนึ่งความสำเร็จในการลงนามสัญญาในครั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะแพงขึ้น และส่งผลต่อราคาไฟฟ้าต่อหน่วย ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงกำหนดข้อเสนอราคาก๊าซธรรมชาติเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคัดเลือกผู้รับสิทธิ ซึ่งให้น้ำหนักคะแนนในส่วนนี้ถึง 65% และบริษัทที่ชนะการประมูลด้วยข้อเสนอราคาคงที่สำหรับก๊าซธรรมชาติที่ต่ำที่สุดทั้ง 2 แปลง อยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันที่อยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียูสำหรับแปลงเอราวัณ และ 214.26 บาทต่อล้านบีทียูสำหรับแปลงบงกชแล้ว ราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกลงจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัญญา โดยคาดว่าค่าไฟฟ้าจากเดิมที่อยู่ที่ 3.6 บาทต่อหน่วย จะลดลงมาอยู่ที่ 3.4 บาทต่อหน่วยเป็นอย่างน้อย เป็นระยะเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ยังทำให้ไทยลดการพึ่งพานำเข้าก๊าซในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะต้องจัดหาจากต่างประเทศลงได้ด้วย จากเดิมที่มีแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 (Gas Plan 2015) กำหนดนำเข้า LNG ที่ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 แต่คาดว่าแผนใหม่จะเหลือการนำเข้าที่ประมาณ 24 ล้านตันต่อปี เนื่องจากแหล่งเอราวัณและบงกชสามารถผลิตก๊าซ ทดแทนการนำเข้า LNG ได้ราว 10 ล้านตัน ซึ่งช่วยประหยัดเม็ดเงินของประเทศได้จำนวนมาก
การลงนามสัญญาในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการตามแผน PDP 2018 ที่กระทรวงพลังงานจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจากเดิมที่อยู่ที่ 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย ความสำเร็จในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการสร้างความความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างของเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากความสำเร็จในการลงนามสัมปทานแหล่งพลังงาน เอราวัณ บงกช แล้ว ก้าวต่อไปเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย ในอนาคตประเทศไทยยังคงมีความจำเป็นต้องเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ วางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อให้ไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยล่าสุด กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รับมอบหมายให้เริ่งเปิดประมูลสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทยภายในเดือนมิถุนายนนี้