การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรทางทะเลรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง ซึ่งการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและปะการังนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างลึกซึ้งและการบริหารจัดการ อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงเกิดเป็นความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาพัฒนากับวัสดุ Advanced Materials ขึ้นรูปการพิมพ์แบบ 3 มิติ เป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบที่มีความกลมกลืนเสมือนจริงใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ความร่วมมือดังกล่าวนี้ยังครอบคลุมไปถึงการศึกษา วิจัย ติดตามผลตามแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ในการจัดงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX 2020) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญขององค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทยที่มาร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้จัดงานจึงได้หยิบยกเรื่อง การพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาเป็นหัวข้อหนึ่งในงานเสวนา โดยมี อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และ ชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution จากเอสซีจี ร่วมเสวนาแนวทางความร่วมมือในการพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการัง
อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลถือเป็นภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินกิจกรรม โครงการ และการกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลกลับมาสมบูรณ์ แต่เนื่องจากทะเลมีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงต้องทำงานร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร เครือข่ายประชาชน เพื่อช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยดำเนินการฟื้นฟูปะการังอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาวัสดุในรูปแบบปะการังเทียม แต่รูปแบบที่ดำเนินการยังไม่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และยังคงต้องปรับรูปแบบปะการังเทียมให้มีประสิทธิผล
สำหรับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ทช. ได้ร่วมมือกับเอสซีจี และจุฬาฯ ในการจัดทำโครงการพัฒนารูปแบบฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ที่มีรูปทรงคล้ายคลึงปะการังธรรมชาติและมีความเหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และจากผลการติดตามการศึกษาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปะการังเทียมที่มีในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาอย่างแน่ชัดว่ารูปแบบใดเหมาะสมสามารถช่วยฟื้นฟูปะการังได้เห็นผลจริงอย่างยั่งยืน ดังนั้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้พัฒนารูปแบบของวัสดุลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ในชื่อว่า “นวัตปะการัง” ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing ขึ้นรูปวัสดุได้เสมือนจริงและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในท้องทะเลเป็นอย่างมาก พร้อมด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาข้อมูล วิจัย ออกแบบ และสำรวจพื้นที่ หลังจากที่ได้วัสดุที่ผลิตจาก 3D Cement Printing จากเอสซีจี ทีมงานได้ทดสอบประเมินผลหลายด้าน เช่น การทดสอบการต้านกระแสน้ำ การจมตัว การทดสอบการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ความคุ้นเคยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
หลังจากทดลองนำไปวางจริง และติดตามประเมินผล พบว่าผลลัพธ์ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังมองไปถึงอนาคตในการพัฒนารูปแบบปะการังเทียมเหล่านี้ให้มีประโยชน์มากขึ้น เช่น สามารถใช้เป็นที่ติดทุ่นเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำของ ทช. ซึ่งปกติแล้วจะต้องไปติดทุ่นที่ปะการังธรรมชาติ หากทำได้ก็จะลดผลกระทบและการรบกวนปะการังธรรมชาติได้เป็นอย่างมาก
ด้าน ชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution จากเอสซีจี กล่าวถึงแนวคิดในความร่วมมือพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งของไทย ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing
“เอสซีจี มุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด Passion for Better Green Society ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทาง CE – Circular Economy ซึ่งความร่วมมือระหว่างเอสซีจี ทช. และจุฬาฯ ในครั้งนี้ เอสซีจีได้นำเอาเทคโนโลยีการขึ้นรูป 3D Cement Printing ร่วมกับการพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์ที่มาจากเศษคอนกรีตจากการรื้อถอนอาคารเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน ด้วยวิธีการฉีดขึ้นรูปเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ได้ร่วมกันศึกษาทดลอง ปรับปรุงพัฒนาการออกแบบการขึ้นชิ้นงาน เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ประเทศไทยจะใช้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย คืนความสมบูรณ์ให้แหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล หรือต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเป็นแหล่งปะการังทดแทนสำหรับการท่องเที่ยว ลดการรบกวนปะการังธรรมชาติให้มากที่สุด” ชนะ กล่าว