ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอรัฐบาลแผนการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน BKK” โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหากรณีฝนตกเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรูปแบบอ่างเก็บน้ำใต้ดินเพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนนไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 15 นาที เนื่องจากเล็งเห็นว่า ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจากการวิจัยและประเมินพบว่ามีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนนมากเกินไปจนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง จึงมีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่สวนเบญจกิติที่จะช่วยลำเลียงน้ำรอการระบายลงสู่ใต้ดินได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร ใน 4 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร และเขตยานนาวา และเตรียมพร้อมต่อยอดการใช้นวัตกรรมสู่ถนนเส้นอื่น ๆ เพิ่มติม และตรอกซอกซอยในชุมชนเพื่อการจัดการน้ำรอระบายครบวงจร
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า “เทคโนโลยีอันก้าวหน้าในปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และวิถีชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจากยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปัจจุบันทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ต่างให้ความสำคัญและนำร่องผลักดันรูปแบบการพัฒนากรุงเทพมหานครไปสู่การเป็น “นครอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการคมนาคม ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของไอเดียนวัตกรรม “แก้มลิงใต้ดิน BKK” ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9”
อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนการก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่สามารถลดมูลค่าการสูญเสียด้านเวลาและเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาทต่อน้ำท่วมขังหนึ่งครั้งในระยะเวลา 2 ชั่วโมง นับว่าโครงการแก้มลิงใต้ดินถือว่าใช้การงบลงทุนที่น้อยแต่สามารถช่วยจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ