บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (PPPGC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กับพันธมิตรจำนวน 3 ราย รวมมูลค่าลงทุน 4,800 ล้านบาท ได้ร่วมลงทุนก่อสร้างโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย หรือ “โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,000 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานและช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใกล้เคียง โดยสามารถเดินเครื่องกำลังการผลิตเต็มกำลังได้เมื่อต้นปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ารายได้จากโครงการฯ ในปี พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเฟส 2 ด้วยงบลงทุน 800-1,000 ล้านบาท คาดดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ.2565
PTG จับมือพันธมิตรจำนวน 3 ราย สร้างโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ 4,800 ล้านบาท
ชัยทัศน์ วันชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (PPPGC) กล่าวว่า โครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย หรือ “โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์” เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กับพันธมิตรจำนวน 3 ราย ได้แก่ กลุ่มบริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรม หรือ ทีซีจี (TCG) บริษัท โอพีจีเทค จำกัด และ บริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด โดยแบ่งสัดส่วนลงทุน ได้แก่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) 35%, กลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม 45%, บริษัท โอพีจีเทค จำกัด 10% และบริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด 10% รวมมูลค่าลงทุน 4,800 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,000 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานและช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใกล้เคียงให้มีสถานที่รับซื้อผลผลิตปาล์มตลอดทั้งปี ทำให้โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ มีความได้เปรียบเพราะบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มกว่า 90% ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง กำลังการผลิตประมาณ 7 เมกะวัตต์ และมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าภาครัฐอีกประมาณ 1 บาทต่อหน่วยอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ถึงจุดคุ้มทุนเรียบร้อยแล้ว
ใช้เทคโนโลยีผสมผสานจากมาเลเซีย อิตาลีและไทยผลิตผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ
สำหรับเทคโนโลยีการผลิตนั้น โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ใช้เทคโนโลยีผสมผสานจากประเทศมาเลเซีย อิตาลีและไทยในการทำงานให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเภทได้ตามที่ตลาดต้องการ สามารถผลิตไบโอดีเซลประมาณ 450,000 ลิตรต่อวัน และน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคประมาณ 200,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งยังไม่เต็มกำลังการผลิตเนื่องจากระบบภายในโครงการที่มีโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และโรงงานผลิตไบโอดีเซล (B100) มีกำลังผลิตรวมสูงถึง 900,000 ลิตร
โครงการอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจร เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบจากเกษตรกรที่นำมาขายและคัดจากแปลงปลูกของบริษัทฯที่ปลูกเองกว่า 200 ไร่ บางแปลงสามารถเก็บผลผลิตปาล์มที่ปลูกป้อนสู่โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ได้บ้างแล้ว ซึ่งมีการแยกสัดส่วนคลังจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้าอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยคลังจัดเก็บสามารถเก็บได้ประมาณ 500,000 ตัน ช่วยลดความผันผวนของต้นทุนการผลิตได้ในช่วงที่ขาดแคลนปาล์มป้อนระบบการผลิต
ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯมีรายได้มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก คือ ไบโอดีเซล (B100) มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 77% น้ำมันโอเลอิน สำหรับใช้บริโภค มีสัดส่วนอยู่ที่ 13% ที่เหลือมาจากกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ซึ่งนำไปเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและสบู่และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก 10%
กลุ่มลูกค้าหลัก B100 เป็นกลุ่มโรงกลั่นในไทย
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล (B100) จะเป็นกลุ่มโรงกลั่น โดยเกือบทุกบริษัทอยู่ในประเทศ เช่น Thai oil, OR, ESSO, Susco, บางจาก และ IRPC เป็นต้น, น้ำมันโอเลอิน ส่วนตลาดหลัก ๆ ของน้ำมันโอเลอิน คือกลุ่มลูกค้าแบ่งบรรจุขายตามตลาด (Repacker) 70% ที่เหลือเป็นกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม 30% ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้นอีก 10% และมีแผนที่จะสร้างแบรนด์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ ส่วนกลีเซอรีนบริสุทธิ์ เน้นตลาดส่งออก 100%
คาดปี’63 มีรายได้จากโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ ราว 5,000-6,000 ล้านบาท
ชัยทัศน์ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2563 คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้จากโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ 5,000-6,000 ล้านบาท ด้วยสามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มกำลังการผลิต รวมถึงปัจจัยบวกจากนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลหลักของประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ในประเทศเติบโตสูงขึ้น
“ในส่วนของผลกระทบจาก COVID-19 นั้นอาจจะมีบ้างแต่ไม่มาก โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลขอความร่วมมือคัดกรองการดำเนินงานไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าภายในโรงงาน ทางบริษัทฯก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โชคดีที่มีผลปาล์มในคลังเก็บสามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดแคลน” ชัยทัศน์ กล่าว
โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ได้มาตรฐานระดับสากล ครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม
โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์มีการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายในห้อง Lab อย่างเป็นระบบทุกขั้นตอนตามมาตรฐาน ก่อนที่จะส่งสู่มือลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าในทุก ๆ กลุ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์เป็นโรงงานระดับมาตรฐานสากลได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพมากมาย ประกอบด้วย ISO 9001 (2015), GMP, HACCP, Kosher, Halal และRSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพได้รับการรับรองภายใต้ระบบมาตรฐานสากลอื่น ๆ
เตรียมแต่งตัว PPPCG เข้าตลท.
ชัยทัศน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการในเฟส 2 คาดจะเริ่มศึกษาภายในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากกำลังการผลิตในเฟสแรกยังเพียงพอต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ซึ่งหากเริ่มดำเนินการในเฟส 2 คาดจะมีกำลังการผลิตจากเดิมเป็นเท่าตัว หรือเพิ่มเป็น 1,000,000 ลิตรต่อวัน เบื้องต้นบริษัทฯ คาดเฟส 2 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 800-1,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 1 ปี
PPPCG มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนขยายโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ เฟส 2 เพิ่มเติม โดยเบื้องต้นคาดจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2565 ซึ่งปัจจุบันมีที่ปรึกษาการเงินแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเซ็นสัญญา