‘รมว. พลังงาน’ เผยความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน อยู่ระหว่างให้กรมพัฒนาพลังทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดทำรายละเอียด เน้นต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์ตกกับเกษตรกร ช่วยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ สั่งเร่งสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้ คาดนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนว่า ขณะนี้ทางกรมพัฒนาพลังทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดที่จะต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์ตกกับเกษตรกร โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานใหม่ เพื่อเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2563 นี้
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการอยู่ในโครงการ Quick Win (ระยะเร่งด่วน) จะต้องกลับมาดูอีกครั้งว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ เพราะการเปิดโครงการนำร่องในครั้งนี้จะเน้นโรงไฟฟ้าใหม่ และมีการปลูกพืชพลังงานใหม่เกิดขึ้น เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตอบโจทย์การสร้างงานหรือสร้างอาชีพเพิ่ม และต้องไปดูว่าพื้นที่ปลูกมีได้มากน้อยเพียงใด เพราะต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เกษตรกรต้องรวมตัวกันปลูกพืชพลังงานเหล่านี้
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ไม่ได้ปิดกั้นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีความพร้อม แต่จะต้องปรับให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่ หากจะดำเนินการร่วมกับชุมชนก็ไม่ได้ปิดกั้นเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเกณฑ์
ด้าน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. จะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้ เพื่อที่จะเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขและเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ร่างไว้แล้วว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้
สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จากส่วนเดิมที่จะมีให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) คงจะต้องตัดไป โดยจะเหลือเฉพาะไบโอแมสและไบโอแก๊สที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้น และในส่วนของเกษตรกรที่จะให้ถือหุ้นบุริมสิทธินั้น ก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปเป็นการรับซื้อราคาเชื้อเพลิงให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นแทน ส่วนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มหรือไม่นั้นคงจะต้องไปดูเทคโนโลยีด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าหากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ดังกล่าว จะทำให้เกิดเม็ดเงินจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมเงินที่จะกระจายไปยังชุมชน