สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส หรือ Institut de recherche pour le développement (IRD) และ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ร่วมกันจัดกิจกรรม “ค่ำคืนแห่งความคิด” หรือ “Night of Ideas Alive Bangkok” ซึ่งเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการ-ปฏิบัติการ ในหัวข้อ TAKE A DEEP BREATH เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศและการแก้ไขปัญหา ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตด้านมลภาวะทางอากาศอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การมีชีวิตอยู่” หรือ “Being Alive” เป็นบุคคลที่มาจากทุกภาคส่วนทั้งชาวฝรั่งเศสและไทย อาทิ อาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ศิลปิน แพทย์ นักวิจัย ผู้สื่อข่าว และช่างภาพ ประกอบด้วย Dr.Xavier MARI นักชีววิทยา และนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมด้วย ศ. ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันนิด้า รวมถึง รศ. ดร. ไกรชาติ ตันตระการอาภา รองคณบดีฝ่ายทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วาริศา สี่หิรัญวงศ์ สมาชิกกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้นำโครงการมลพิษทางอากาศในประเทศไทย Right to Clean Air และ ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิด
นอกจากนี้ ภายในงาน Bangkok’s Night of Ideas UddC-CEUS ยังได้จัดนิทรรศการ “Stairway to Greener Bangkok” โดยแปลงพื้นที่อัฒจันทร์ทางขึ้นออดิทอเรียมชั้น 3 ของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ เป็นพื้นที่จัดวางนิทรรศการแสดงปัญหาและอุปสรรคของกรุงเทพฯ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างจำเป็นเร่งด่วน ด้วยการส่งเสริมเมืองเดินได้ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ค โครงการสะพานเขียว และโครงการทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน-คลองสาน หรือ ระเบียงธรรมสามศาสนา และนิทรรศการศิลปะ ภาพถ่าย ผลงานของเหล่าศิลปินทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวไทย ซึ่งนำเสนอเนื้อหาผ่านงานศิลปะเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศวิทยา โดยมุ่งเน้นมลภาวะสภาพแวดล้อม สภาพอากาศในประเทศไทย อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ ผลงานชื่อ Black carbon : the dark side of human activity โดยการเขียนร่วมกันระหว่าง Xavier MARI และ Olivier EVRARD จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส (IRD) ด้านงานศิลปะชื่อ The meaning of life โดยศิลปิน ADANA LEGROS ขณะที่นิทรรศการภาพถ่ายชื่อ City Transmutation เป็นผลงานของช่างภาพ Thierry FACON และผลงานวิถีชีวิตชื่อ Bangkok Sealandia : What will we encounter in the year 2050 ? ผลงานของศิลปิน Gaspard PLEANSUK
อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมถือว่าเป็นการระดมสมองมุ่งเน้นเกี่ยวกับความสมดุลของสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงบริบทในประเทศไทย ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อให้ดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกันอย่างมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น เพื่อเรียกร้องข้อเสนอนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเร่งดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืน