หลังจากความเห็นชอบตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน สำหรับการ ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้า พลังน้ำเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ได้เกิดเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ในด้านพลังงาน ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผนึกกำลังกับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมกับพันธมิตรจีนในนาม China Energy Engineering Group Shanxi Electric Power Engineering Co., Ltd. โดยทั้ง 3 ฝ่ายได้ลงนามสัญญาในการจัดซื้อและก่อสร้างโครงการ ซึ่งเป็น นิมิตหมายอันดีสำหรับความร่วมมือพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ แบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ แบบไฮบริดนี้ เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนา และการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงาน แสงอาทิตย์ในประเทศไทย โดยมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด ดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและ มีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูง จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต จะมีราคาถูกลง เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์ บนทุ่นลอยน้ำที่จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันร่วมกับไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) มาบริหารจัดการพลังงานทั้ง 2 ประเภท ทำให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างจะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 นี้ หรือต้นปี 2564 โดยโครงการนี้ถือเป็น หนึ่งแผนงานที่มีเป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2565 อีกด้วย จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตที่ COD (Commercial Operation Date) แล้ว 2,896 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ พิธีการลงนามสัญญาดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการ กฟผ. เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน กฟผ. เช่น เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. รวมทั้ง ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ และ ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ ในฐานะเป็น ผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) ตามแผนงานผู้ประกอบการ ขณะที่ในส่วนผู้แทนบริษัทเอกชนของประเทศจีน จากบริษัท China Energy Engineering Group Shanxi Electric Power Engineering Co., Ltd. ซึ่งนำโดย Mr.Wang Xinping ประธานกรรมการ บริษัท China Energy Engineering Group Shanxi Electric Power Engineering ซึ่งถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำที่สำคัญในการ พัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยที่ลดข้อจำกัดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า และในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับโครงการเพื่อสร้างเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นการลงทุนเฟส 1 จากนั้นจะขยายการลงทุนเฟส 2 ซึ่งเป็นการวางระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรอง (Energy Storage) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการ ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแดด ส่วนโครงการวางระบบโซลาร์ลอยน้ำต่อไปจะขยายไปยัง เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน และคาดว่าเปิดประมูลให้เอกชนมาดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2564-2565 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2566