“กกพ.” มีมติออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าชีวมวล ของ “มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ)” หลังชะลอการพิจารณาอนุญาต และใช้เวลาเกือบ 3 เดือน เพื่อตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง จึงได้สั่งการให้สำนักงาน กกพ. เพิ่มมาตรการในการกำกับดูแล ระบุในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต เพื่อให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด “มั่นใจ” จัดการข้อร้องเรียน และลดข้อวิตกกังวลของพี่น้องชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้ครบถ้วน ด้าน “กลุ่มมิตรผล” ให้คำมั่น เดินหน้า โครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่อำนาจเจริญ
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ให้แก่ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 32,500.00 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) หรือ 26.000 เมกะวัตต์ (MW) ผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย ใบอ้อย และชิ้นไม้สับ) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. น้ำปลีก อ. เมือง จ. อำนาจเจริญ พร้อมกำหนดมาตรการในกำกับดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงาน EIA
ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมข้อเรียนและประเด็นผลกระทบที่มีนัยสำคัญอย่างครบถ้วน โดยระบุไว้ในเงื่อนไขเฉพาะในท้ายใบอนุญาต กกพ. ยังได้รับทราบมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมตามที่ตัวแทนกลุ่มบริษัทมิตรผลได้แสดงเจตจำนงยินดีที่จะจัดทำมาตรการดังกล่าว เพื่อเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในการดูแลผลกระทบต่อ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งหากพบว่าฝ่าฝืนหรือไม่มีการปฏิบัติ และเกิดมลพิษและผลกระทบสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดให้หยุดการผลิตได้ทันที
“การดำเนินงานของ กกพ. ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในบริหารจัดการ และเคารพสิทธิต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้” นางสาวนฤภัทร กล่าว
ก่อนหน้านี้ ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 กกพ. ได้มีมติชะลอการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า จำหน่ายไฟฟ้า การอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพื่อให้ กกพ. ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ ซึ่งข้อสรุปประเด็นปัญหาข้อร้องเรียน ข้อกังวลใจ และแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อไปสู่การกำหนดเงื่อนไขเฉพาะในการประกอบกิจการพลังงานหรือกำหนดเป็นมาตรการลดผลกระทบตามกฎหมายต่างๆ
โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 นำโดยนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. พร้อมคณะผู้แทนสำนักงาน กกพ. ได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าประชุมร่วมกับนายนิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร และกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย เพื่อดู สำรวจ เก็บข้อมูล และรับฟังข้อเท็จจริงของโครงการ ได้แก่ จุดผันน้ำจากลำน้ำเซบาย สภาพทั่วไปของพื้นที่โครงการ และการกันพื้นที่สาธารณะ (ลำห้วยน้อย) ออกจากพื้นที่โครงการ รวมทั้งได้เจรจากับกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านโครงการ ซึ่งในการลงพื้นที่ในครั้งนั้น ได้ข้อสรุปประเด็นที่ได้จากกลุ่มผู้คัดค้าน มาพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงาน EIA โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ เพื่อนำมาพิจารณาใช้ปฏิบัติในช่วงก่อนก่อสร้างและตลอดช่วงก่อสร้าง ตลอดจนถึงช่วงดำเนินการ
ทั้งนี้ ตามที่ กกพ. ได้มีมติอนุญาตใบอนุญาตจำนวน 5 ประเภทแล้วได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า (รง.4)
นางสาวนฤภัทร กล่าวว่า “ในส่วนของใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า กกพ. ได้มติให้เพิ่มเงื่อนไขเฉพาะในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เป็น 9 ข้อ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ต้องปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม “โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ” ฉบับล่าสุด หรือฉบับที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบโดยเคร่งครัด
2. ต้องนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหา ข้อจำกัด และข้อเสนอแนะต่อสำนักงานเป็นประจำทุก 6 เดือน
3. ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดส่งเอกสารดังต่อไปนี้ก่อนแจ้งเริ่มประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า
(1) ผลการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของเครื่องจักรอุปกรณ์สำคัญที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิต
(2) ผลการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึง Heat Balance, Mass Balance, Water Balance และปริมาณมลพิษทางอากาศที่ระบายจากปล่อง ซึ่งได้รับรองอย่างเป็นทางการหลังจากการทดลองเดินเครื่องและทดสอบระบบ
4. หากมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงชนิดของเชื้อเพลิงหรือรายละเอียดโครงการแตกต่างจากที่เสนอไว้ในการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน จะต้องเสนอรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
5. ให้นำส่งรายงานสมดุลของการผลิต ซื้อ ใช้ และ/หรือจำหน่ายไฟฟ้าประจำวันของสถานประกอบกิจการ โดยแสดงรายละเอียดเป็นรายชั่วโมง และผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามรอบการตรวจติดตามที่กำหนดในรายงาน EIA ให้สำนักงานทุกเดือน นับแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการ
6. ห้ามจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายพลังงานของการไฟฟ้าก่อนได้รับอนุญาต
7. ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน จัดการฝึกอบรม แนะนำวิธีการป้องกันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในส่วนที่อาจก่อให้เกิดอันตราย อุบัติเหตุและอุบัติภัย และมีการฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ จะต้องมีหลักฐานเอกสารการดำเนินการแสดงไว้ที่สถานประกอบกิจการให้สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
8. ต้องทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการจำนวน 4 จุด (ทิศทางลมและความเร็วลม 2 จุด) ปีละ 3 ครั้ง (ทุก 4 เดือน) ครั้งละ 7 วันต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมทั้งในช่วงฤดูหีบอ้อยและนอกฤดูหีบอ้อ
9. ให้ควบคุมดูแลการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุด และให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMs) โดยให้ติดตั้งจอแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณหน้าโรงงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้โดยสะดวก”
สำหรับ มาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมตามที่ตัวแทนกลุ่มบริษัทมิตรผลฯ ได้แสดงเจตจำนงยินดีที่จะจัดทำมาตรการดังกล่าว เพื่อเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล มีดังนี้
1. บริษัทฯ จะควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุดและจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMs) โดยจะรายงานคุณภาพอากาศผ่านจอแสดงผลที่บริเวณหน้าโรงงาน
2. บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินให้แก่สำนักงาน กกพ. ทุกเดือน
3. บริษัทฯ จะเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการปีละ 3 ครั้ง ต้องดำเนินการตรวจวัดในช่วงหีบอ้อย นอกฤดูกาลหีบอ้อย และช่วงหยุดซ่อมบำรุง
4. บริษัทฯ ยินดีจะเชิญผู้ร้องเรียนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อติดตามการประกอบกิจการของบริษัทฯ
5. บริษัทฯ จะจัดตั้งกองทุนมวลชนสัมพันธ์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงงาน ซึ่งบริหารกองทุนโดยคณะกรรมการไตรภาคี
6. บริษัทฯ จะจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย โดยสนับสนุนการเพาะเลี้ยงและปล่อยพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำท้องถิ่น รวมทั้งกิจการสัตว์น้ำท้องถิ่น โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคีและประมงจังหวัด
7. บริษัทฯ จะพัฒนาถนน และการจราจรในพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลี่ยงทางหลัก และลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมทั้งการดูแลฝุ่นถนน
8. บริษัทฯ จะมอบทุนวิจัยการพัฒนาและอนุรักษ์กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย
9. บริษัทฯ จะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรที่เป็นอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในการปลูกอ้อย
10. บริษัทฯ จะติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำที่โรงงานมีการผันน้ำจากลำน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
11. บริษัทฯ จะดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างงาน สร้างอาชีพเสริม การท่องเที่ยวชุมชน
12. บริษัทฯ จ้างงานคนพิการในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงงาน”
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการติดตามการดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมที่ตัวแทนกลุ่มบริษัทมิตรผลเสนออย่างเคร่งครัด และรายงาน กกพ. ต่อไป” นางสาวนฤภัทร กล่าวเพิ่มเติม