กฟผ. ร่วมกับ Stadtwerke Rosenheim ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล (Biomass) และก๊าซชีวภาพ (Biogas) ตามนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
2 ตุลาคม 2562 – นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Dr. Goetz Bruehl ประธานกรรมการบริษัท Stadtwerke Rosenheim เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมุ่งเน้นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล (Biomass) และก๊าซชีวภาพ (Biogas) โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ Ms. Gabriele Bauer นายกเทศมนตรี เมือง Rosenheim ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เมือง Rosenheim สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าเทศบาล Stadtwerke Rosenheim เป็นโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนจากการนำขยะในท้องถิ่นมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ มีการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพร่วมกับโซลาร์เซลล์และพลังงานลมเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับคนในชุมชน หากนำรูปแบบความสำเร็จมาบูรณาการกับโรงไฟฟ้าชุมชนในประเทศไทยให้เหมาะกับเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิ ซังข้าวโพด แกลบ หญ้าเนเปียร์ ทะลายปาล์ม ก็จะทำให้คนในชุมชนมีแหล่งพลังงานที่มั่นคง มีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าและจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตามนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่าง กฟผ. กับบริษัท Stadtwerke Rosenheim เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเดินหน้าตามนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจากบริษัท Stadtwerke Rosenheim มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล และก๊าซชีวภาพ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการออกแบบเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อชุมชนแต่ละแห่ง รวมถึงศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ โดยชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ สร้างงานให้กับท้องถิ่น ร่วมกับการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดในการดำเนินงาน ก็จะสามารถแก้ปัญหาด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของโลกในอนาคต โรงไฟฟ้าชุมชนในแนวทางของ กฟผ. มิใช่มิติแค่เรื่องพลังงานเท่านั้น แต่คือการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความยั่งยืนต่อชีวิตของคนไทยอย่างแท้จริง อีกทั้งในบางพื้นที่ยังสามารถบูรณาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับกับชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพ ช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า โดยไม่กระทบกับระบบไฟฟ้าหลักได้อีกด้วย
Dr. Goetz Bruehl ประธานกรรมการบริษัท Stadtwerke Rosenheim กล่าวว่า มีความยินดีที่เมืองโรเซนไฮม์ ได้ร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าของโรเซนไฮม์ที่ได้นำขยะจากชุมชนและวัสดุทางการเกษตรมาผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่งให้กับคนในเมือง โดยไม่สร้างมลพิษต่อชุมชน ทางโรเซนไฮม์เชื่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนของไทยอย่างเป็นรูปธรรม
Source: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)