“ขยะพลาสติก” เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสด้านสิ่งแวดล้อมกำลังถูกยกให้เป็นประเด็นสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบันเกิดจากพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการใช้พลาสติกในปริมาณมากขึ้น อีกทั้งพลาสติกส่วนมากมักเป็นรูปแบบของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) จึงเป็นสาเหตุให้เกิดขยะพลาสติกปริมาณมหาศาล และจากการที่พลาสติกสามารถเก็บรวบรวมได้ยากเนื่องจากมีนํ้าหนักเบา สามารถถูกลมพัดปลิวและกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายจึงทำให้เป็นปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทรัพยากรนํ้าที่มักเป็นแหล่งรองรับสุดท้ายของขยะพลาสติกเหล่านี้
“การย่อยสลายตัวช้า” เป็นความเข้าใจที่เกี่ยวกับปัญหาพลาสติกเนื่องจากต้องใช้เวลามากกว่าร้อยปีพันปีในการย่อยสลาย จึงทำให้พลาสติกเหล่านี้ตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อม โดยเวลาการย่อยสลายยาวนานนี้เกิดจากโครงสร้างทางเคมีของพลาสติกที่ทำให้มีความทนทาน ไม่สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาอันสั้นเหมือนใบไม้ใบหญ้า หรือชีวมวลอื่นๆ ด้วยสาเหตุนี้เอง จึงได้มีการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติก (Bioplastic) ขึ้นมาโดยใช้ชีวมวลต่างๆ โดยมุ่งเป้าว่าจะเป็นพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายน้อยกว่าพลาสติกทั่วไป ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 2017 และ 2018 ที่มีการผลิตไบโอพลาสติกในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว ไบโอพลาสติกจึงเริ่มเข้ามาทดแทนการใช้งานพลาสติกมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีการใช้ไบโอพลาสติกทดแทนพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ถุงชา ถุงเก็บอาหาร หรือฟิล์มที่ใช้ในการห่ออาหาร นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผ้าอ้อมเด็กถุงขยะ หรือส่วนผสมในยางรถยนต์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องก็คือ ไบโอพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหมือนการฝังเศษต้นไม้ ใบหญ้าลงดิน เนื่องด้วยกระบวนการผลิตของไบโอพลาสติกมีกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของวัสดุชีวมวลต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่ใช้อุณหภูมิหรือความดันสูง จึงส่งผลให้ไบโอพลาสติกมีความทนทานและสามารถใช้งานทดแทนพลาสติกได้ ด้วยสาเหตุนี้เอง ไบโอพลาสติกส่วนมากจึงไม่สามารถย่อยสลายได้โดยง่ายเหมือนกับวัสดุทางธรรมชาติ และใช้เวลาหลายร้อยถึงหลายพันปี เช่นเดียวกันกับการย่อยสลายพลาสติกทั่วไป นอกจากไบโอพลาสติกบางประเภทเท่านั้นที่มีระยะเวลาในการย่อยสลายสั้นจนกล่าวได้ว่าสามารถย่อยสลายได้ เช่น พลาสติกจำพวก PHA (Polyhydroxyalkanoates) หรือ PLA (Polylactic Acid) ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 17 ของปริมาณไบโอพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาในปี ค.ศ. 2018 เท่านั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นคำว่า “การย่อยสลายได้” ของพลาสติกเป็นคำที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจาก “ไบโอพลาสติก” ที่ย่อยสลายได้ที่ออกสู่ท้องตลาดในปัจจุบันยังเป็นไบโอพลาสติกที่ “ย่อยสลายได้ภายใต้สภาวะควบคุม” กล่าวคือ ไบโอพลาสติกจะต้องถูกจัดการโดยโรงงานที่รับจัดการขยะเฉพาะทางที่มีกระบวนการที่สามารถจัดการกับไบโอพลาสติกเหล่านี้ได้เท่านั้น จึงจะทำให้ไบโอพลาสติกสามารถย่อยสลายได้ ถ้านำไปฝังดินโดยตรงหรือกำจัดในหลุมฝังกลบด้วยวิธีการปกติ ไบโอพลาสติกก็จะใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนานเหมือนกับพลาสติกอื่นๆ ดังนั้นเส้นทางที่ควรจะเป็นของไบโอพลาสติกควรจะต้องเริ่มต้นจากการผลิตไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ และเมื่อมีการใช้งานไบโอพลาสติกควรจะต้องมีการ แยกขยะไบโอพลาสติก ออกมาจากขยะอื่นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันสามารถสังเกตการแยกไบโอพลาสติกจากพลาสติกประเภทอื่นๆ ได้ด้วย “สัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 7” แล้วจึงเก็บรวบรวมและจัดการให้เกิดการย่อยสลายของไบโอพลาสติกในสภาวะที่เหมาะสมภายในโรงงาน ก่อนที่จะนำส่วนที่ย่อยสลายแล้วมาใช้ในการผลิตไบโอพลาสติกต่อไปในรูปแบบวัตถุดิบหรือปุ๋ยสำหรับปลูกพืช
ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการผลิตไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายขึ้นมาได้แล้วในปัจจุบัน มนุษย์เราก็ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องร่วมมือกันจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกขยะให้อยู่ในจุดที่มีการรองรับอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะไปปนเปื้อนกับแหล่งนํ้าหรือดิน อีกทั้งยังต้องมีการแยกขยะพลาสติกออกจากขยะประเภทอื่นๆ เพื่อให้สามารถนำพลาสติกทุกชนิดรวมไปถึงไบโอพลาสติกกลับไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราทุกคนจึงควรร่วมมือกันดูแลโลกของเราไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหากทุกคนร่วมกันจัดการและแยกขยะอย่างถูกต้อง โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ อย่างในครอบครัว ปัญหาของขยะในประเทศไทยที่ปัจจุบันเป็น 5 อันดับต้นของโลกด้านขยะทะเลจะลดลง และประเทศไทยจะกลับมามีสิ่งแวดล้อมที่สวยงามและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของลูกหลานของพวกเราในอนาคต
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 95 กันยายน-ตุลาคมคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต, ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา, ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
Reference:
- SSTM D6400-19, Standard Specification for Labeling of Plastics Designed to be Aerobically Composted in Municipal or Industrial Facilities, ASTM International, West Conshohocken, PA, 2019.
- Ammala, Anne (2011). “An overview of degradable and biodegradable polyolefins”. Progress in Polymer Science. 36 (8): 1015-1043. doi:10.1016/j.progpolymsci.2010.12.002.
- Chen, Guo-Qiang; Patel, Martin K. (2012-04-11). “Plastics Derived from Biological Sources: Present and Future: A Technical and Environmental Review”. Chemical Reviews. 112 (4): 2082-2099. doi: 10.1021/cr200162d
- Bioplastics Market Report: “Industry Analysis, 2023”. www.ceresana.com.
- Philip, S.; Keshavarz, T.; Roy, I. (March 2007). “Polyhydroxyalkanoates: biodegradable polymers with a range of applications”. Journal of Chemical Technology & Biotechnology. 82 (3): 233-247. doi: 10.1002/jctb.1667.
- Tokiwa, Yutaka; Calabia, Buenaventurada; Ugwu, Charles; Aiba, Seiichi (2009-08-26). “Biodegradability of Plastics”. International Journal of Molecular Sciences. 10 (9): 3722-3742. doi:10.3390/ijms10093722.