ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ผอ.สนพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2019 หัวข้อ “แผนพลังงานไทยภายใต้ Disruptive Technology” ซึ่งจัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ว่า กระทรวงพลังงานเล็งออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนโควต้าใหม่ 400 เมกะวัตต์ ช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หวังให้ทันกำหนด COD ปี 65 ตามแผน PDP 2018 พร้อมยืนยันแผน PDP 2018 รองรับการผลิตไฟฟ้าในยุค Disruptive Technology
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ. ได้ฉายภาพรวมเกี่ยวกับ แผน PDP 2018 ว่า แผนพลังงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ในแนวคิดหลักของแผนนี้ มาจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยปริมาณกำลังการผลิตเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้า และสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ การกระจายแหล่งเชื้อเพลิงตามภูมิภาค ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือต้องให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศ
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงภาพรวมของการจัดสรรโรงไฟฟ้าของแผน PDP 2018 ซึ่ง มี 4 ส่วน ได้แก่
- โรงไฟฟ้าตามนโยบายและการส่งเสริมของภาครัฐ ในเรื่องของพลังงานทดแทน เน้นความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พลังงานจากชีวมวล พลังงานหมุนเวียน ขยะชุมชน เหล่านี้ ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลักที่จะต้องเข้ามาในระบบ
- โรงไฟฟ้าหลักประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล จากโรงไฟฟ้า กฟผ./IPP/SPP หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 7 ภูมิภาค หรือ โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงรายภาค
- โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามแผน AEDP ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือ โซลาร์ภาคประชาชน โซลาร์ลอยน้ำ โดยหลักการจะดูเรื่องของต้นทุนไม่ให้สูง และรักษาระดับราคาไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
- แผนอนุรักษ์พลังงานตามแผน EEP ซึ่งในฉบับนี้จะแตกต่างจากปี 2015 ในส่วนของเป้าหมายที่เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นว่าการอนุรักษ์พลังงานก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งในเรื่องของเชื้อเพลิง อย่างฟอสซิล พลังงานทดแทน ดังนั้น เป้าหมาย EEP ของพลังงานทดแทน จะต้องมีต้นทุนที่ถูก มีคุณภาพ เน้นเรื่องราคาเป็นหลัก ซึ่งตอบโจทย์ 3 ด้าน คือ
- ความมั่นคงทางพลังงาน ครอบคลุมระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG
- ด้านเศรษฐกิจ โดยที่ค่าไฟฟ้าจะไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงสร้างเม็ดเงินลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการกระจายโรงไฟฟ้ารายภาค และ
- ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเพื่อให้เป็นไปตามกรอบ COP21 ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะตามศักยภาพ และเน้นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก
สำหรับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ตามแผน PDP 2018 ที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม 400 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงปี 2565 นั้น กระทรวงพลังงานคาดว่าจะสามารถเริ่มประกาศรับซื้อได้ภายในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเสนอโครงการส่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการประกาศต่อไป
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 7 โครงการ ปริมาณรับซื้อ 30.78 เมกะวัตต์นั้น เมื่อช่วงปลายปี 2559 และได้มีการกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ปลายปีนี้ ในเบื้องต้นพบว่าบางโครงการไม่สามารถ COD ได้ทัน เนื่องจากติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณารายละเอียดอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผอ.สนพ. ยังได้กล่าวว่า แผน PDP 2018 ได้คำนึงถึงการผลิตไฟฟ้าในยุค Disruptive Technology ที่ปัจจุบันประชาชนสามารถผลิตและใช้เอง (IPS) ที่เหลือสามารถขายเข้าระบบ รวมทั้งยังส่งเสริม Solar Floating ในแผนฯ สำหรับโซล่าร์ประชาชน ที่เปิดรับปีละ 100 เมกะวัตต์ 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์ ในส่วนที่เหลือ 9,000 เมกะวัตต์ จะนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเป็นรูปแบบใด รวมทั้งนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีแนวคิดหลายแบบ อาทิ รัฐลงทุนร่วมกับชุมชน หรือเอกชนร่วมกับชุมชน หรือเอกชนลงทุนแล้วแบ่งผลประโยชน์กับชุมชน โดยคำนึงถึงความต้องการและศักยภาพเชื้อเพลิงในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะสรุปรายละเอียดแนวทางเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
Source: ภาพ-ข่าว สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน