การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากกว่าที่คิด เมื่อทีมนักวิจัยพบการแพร่กระจายของไมโครพลาสติก แม้ในที่ห่างไกลและมีสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์อย่างแถบอาร์กติกและเทือกเขาแอลป์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการตื่นตัวถึงอันตรายจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกซึ่งถูกค้นพบในมหาสมุทร ในน้ำดื่ม รวมถึงในสัตว์ทะเล และยิ่งน่าวิตกมากขึ้น เมื่องานวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งเวียนนาและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมออสเตรีย1 ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ ยังถูกพบในร่างกายของมนุษย์ด้วย โดยเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหารที่มนุษย์เราๆ บริโภคกันในทุกวัน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารทะเล เนื่องจากไมโครพลาสติกจากบนบกปนเปื้อนไหลลงสู่แหล่งน้ำและไหลออกสู่มหาสมุทร เมื่อสัตว์ทะเลบริโภคพลาสติกเหล่านี้เข้าไป จุดจบจึงอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะบริโภคเข้าสู่ร่างกาย โดยจากงานวิจัยพบว่าตัวอย่างสัตว์ทะเลที่เก็บมามากกว่า 90% มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก และมีการตรวจพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเป็นจำนวนมากในปลาทูน่า กุ้ง และกุ้งก้ามกราม
อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงคิดเลี่ยงอาหารทะเล เพื่อลดความเสี่ยงจากไมโครพลาสติก ซึ่งน่าจะเป็นความคิดที่ดี แต่เรื่องของไมโครพลาสติกอาจจะอันตรายมากกว่าที่คุณคิด เพราะล่าสุดมีรายงานวิจัยที่น่าตกใจยิ่งกว่า เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Alfred Wegener Institute และ Swiss WSL Institute ได้เปิดเผยงานวิจัย2 ซึ่งตรวจพบอนุภาคของไมโครพลาสติกจากกลุ่มตัวอย่างของน้ำแข็งที่เก็บมาจากหลายที่ ทั้งจากอาร์กติก และรวมถึงน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงอย่างเทือกเขาแอลป์ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยจากรายงานระบุว่า ตัวอย่างน้ำแข็งจากเขตอาร์กติก, เกาะ Helgoland ในทะเลเหนือ, เทือกเขาในรัฐบาวาเรีย, หิมะจากเบรเมน และน้ำแข็งจากเทือกเขาแอลป์ ล้วนพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกทั้งสิ้น และยังมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในระดับความเข็มข้นสูงอีกด้วย
การตรวจพบไมโครพลาสติกในพื้นที่ห่างไกลและมีสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์อย่างอาร์กติก รวมถึงบนเกาะสฟาลบาร์ และหิมะบนน้ำแข็งที่ลอยอยู่จากงานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ชัดให้เห็นถึงที่มาของไมโครพลาสติกเหล่านี้ว่า ส่วนใหญ่ปะปนมากับหิมะ และแสดงให้เห็นว่าหิมะนั้นมีประสิทธิภาพในการช่วยชะล้างอนุภาคไมโครพลาสติกออกจากชั้นบรรยากาศได้
ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความกังวลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากไมโครพลาสติกในอากาศ เนื่องจากไมโครพลาสติกที่มีในอากาศจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนทั่วโลกโดยตรง เพราะไมโครพลาสติกจำนวนมากสามารถกระจายและเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งผ่านทางอากาศได้โดยธรรมชาติ ซึ่งเท่ากับว่าในทุกๆ วัน เราอาจจะกำลังหายใจโดยสูดอากาศที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายอยู่ตลอดเวลาก็เป็นได้ คำถามที่น่ากังวลคือ มีปริมาณไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอากาศมากเพียงใด และไมโครพลาสติกเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน
อันตรายจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่างการปนเปื้อนในมหาสมุทร ในอาหารทะเล ในน้ำดื่มที่เราสามารถเลี่ยงที่จะบริโภคได้อีกต่อไป แต่จะอยู่ในอากาศที่เราสูดดมและหายใจเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา ซึ่งแน่ชัดว่าปัญหาของไมโครพลาสติกกำลังเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นการยากที่จะกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้คือการจัดการมลพิษพลาสติกที่แหล่งที่มา หยุดยั้งการเข้าสู่ธรรมชาติตั้งแต่แรก โดยการลดการผลิตพลาสติก ซึ่งปัจจุบันมีพลาสติกถูกผลิตทั่วโลกมากกว่า 330,000,000 เมตริกตันในแต่ละปี
Source : อ้างอิงข้อมูล
1 Microplastics discovered in human stools across the globe in ‘first study of its kind’
https://www.umweltbundesamt.at/en/news_events_reports/news_eaa/en_news_2018/news_en_181023/
2 Microplastic Pollution Found in Snow in the Remotest Corners of the World
https://interestingengineering.com/microplastic-pollution-found-in-snow-in-the-remotest-corners-of-the-world