ททท. เปิดตัว “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล” ฟื้นฟูให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแรงหลัง COVID-19 คลี่คลาย


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดตัว “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism)” เพื่อเตรียมความพร้อม ช่วยฟื้นฟู ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้กลุ่มลูกจ้างพนักงานผู้ประกอบการไทยและธุรกิจในด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกว่า 7.7 ล้านคน กลับมาแข็งแรงหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือจาก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้พัฒนานวัตกรรม และนักลงทุน ที่เป็น 3 ภาคส่วนสำคัญที่จะร่วมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยกว่า 7.7 ล้านคน สร้างภูมิต้านทาน พร้อมปรับตัวเข้าสู่ชีวิตปกติใหม่

Empowering

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี หรือ Technology Disruption ส่งผลต่อทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และยิ่งต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ไม่คาดเดาได้และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนถึง 3 ระลอก ซึ่งเป็นสิ่งเร่งรัดให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ และต้องมองหายุทธวิธีแนวทางการดำเนินนโยบายใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีกว่า 7.7 ล้านคนของไทยให้มีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้นภาครัฐผู้ขับเคลื่อนโยบายจึงต้องสร้างเครื่องมือหรือระบบนิเวศที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้เข้าสู่ชีวิตปกติใหม่ วิถีการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อลด ต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้และมีความอย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism) นี้ ถือเป็นอีกโครงการที่ช่วยเตรียมความพร้อม เสริมสร้าง ฟื้นฟูผู้ประกอบการการท่องเที่ยวให้พัฒนาศักยภาพของธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ทันที ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความแข็งแรงให้แก่ผู้พัฒนานวัตกรรมที่เข้าร่วมโครงการและเชิญชวนนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการเพื่อจับคู่ทางธุรกิจกับนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างระบบนิเวศของการท่องเที่ยวในยุคNew Normal โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ 1. ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในกลุ่มโรงแรมและที่พัก บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร สปาและร้านนวด บริการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว บันเทิงและนันทนากาและร้านขายของที่ระลึก 2.ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่มีผลงานพร้อมใช้เพื่อนำเสนอผู้ประกอบการและนักลงทุนและ3.ภาคลงทุนได้แก่ ธนาคาร สถาบันการเงินการลงทุนต่างๆ นักลงทุนอิสระ นักลงทุนสถาบัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการนำไปใช้ลงทุนหาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมเพิ่มพูนศักยภาพการดำเนินธุรกิจก้าวสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีตามเป้าหมายสู่การท่องเที่ยวยุคดิจิทัล ที่วางไว้ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนพร้อมรับมือกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศในช่วงปลายปีพ.ศ.2564 นี้

 

ททท. จัดตั้งโครงการ Empowering Tech Tourism มุ่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวไทยก้าวไกลในยุคดิจิทัล

Empowering

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหนัก ผู้ประกอบการบางรายต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางรายต้องเลิกกิจการไป และอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงัก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ททท. ต้องเร่งฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเร่งด่วน ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิถีใหม่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมบนพื้นฐานของปลอดภัยและความยั่งยืน

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล Empowering Tech Tourism ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผู้พัฒนาด้านนวัตกรรม และนักลงทุนที่จะช่วยกันเสริมศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไกลในยุคดิจิทัล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai), กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TEDFund), กลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank), ธนาคารกรุงเทพ รวมถึงนักลงทุนจากสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนส่วนบุคคล รวมทั้ง ททท. ตลอดจนทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล โดยพัฒนา Digital Platform ภายใต้ชื่อ www.empoweringtechtourism.com ที่รวบรวมผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ ตอบสนองความต้องการด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว นำเสนอให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำนวัตกรรมไปใช้งานเพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เข้ากับยุคดิจิทัล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ใช้เป็นช่องทางในการเลือกลงทุนในนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว เป็นการสร้างการเติบโตให้แก่ผู้พัฒนานวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในระยะยาว มีเวทีจัดกิจกรรมออนไลน์ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ตและอื่นๆ นำภาพสถานที่ท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ การตลาดที่จะเป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้กลับมาท่องเที่ยวหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

Empowering

ผู้ประกอบการต่างมีความหวัง หลังรัฐออกนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ต้องเผชิญ COVID-19 ระยะเวลาปีเศษๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีเงินทุนและต้องอาศัยนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 90% ต้องปิดกิจการและที่เหลืออีก 10% ยังอาศัยนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เดินทางไปท่องเที่ยวบ้างในช่วงการผ่อนคลายนโยบายของทางรัฐบาล ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ๆก็พยายามปรับตัว นำแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีอยู่และจากหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปแนะนำช่วยลดต้นทุน ช่วยมองหาช่องทางตลาดใหม่ๆ การพูดคุยกับลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ จากที่เคยดำเนินธุรกิจรองรับนักท่องเที่ยวแบบ Face to Face มาเป็นระบบพูดคุยแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งช่วงแรกๆ ผู้ประกอบการอาจจะไม่ชินไม่คุ้นเคยระบบออนไลน์เนื่องจากไม่ได้ใช้โซเชียลมากนัก แต่เมื่อทำการพูดคุยศึกษาและใช้ระบบไปสักระยะจะมีความคุ้นเคยและใช้งานคล่องมากขึ้น มีการเปิดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากโรงแรมดังระดับ 5 ดาว ผ่านช่องทางเปิดหน้าร้านภายในโรงแรมและช่องทางออนไลน์ Delivery เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ในช่วงที่ไร้นักท่องเที่ยวเข้าพักภายในโรงแรม ซึ่งการปรับตัวทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นพลังและแรงใจรอความหวังในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายภาครัฐที่เพิ่งประกาศเปิดประเทศจากนี้อีก 120 วัน ถือเป็นนโยบายที่สร้างความหวัง สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างยิ่ง จากนี้ต่อไปเมื่อเปิดประเทศแล้วคาดว่านักท่องเที่ยวคงจะไม่กลับมาแบบ 100% ต้องรอสถานการณ์ COVID-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวที่ประเทศต่างๆที่มีการได้รับการฉีดวัคซีนครบตามกำหนดจะอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยและมีการกักตัวตามระเบียบของรัฐบาลไทยในบางสถานที่ท่องเที่ยว บางจังหวัดท่องเที่ยวของไทยเพื่อความปลอดภัยปลอดเชื้อควบคุมโรคต่อไป“เพราะไม่มีใครรู้อนาคตได้ว่าหากเปิดประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร รู้แต่เพียงว่าหากไม่เปิดประเทศสถานการณ์การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการทอ่งเที่ยวจะแย่ลงและมีการปิดกิจการ ขายกิจการมากขึ้นนับจากนี้ ทั้งนี้จะต้องเตรียมความพร้อม ทำระบบดิจิทัล เทคโนโลยีทุกรูปแบบ รวมทั้งอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการดูแลความปลอดภัย ปลอดเชื้อทุกๆมิติไว้ก่อนที่จะมีการเปิดประเทศในอีก 120 วันจากนี้ด้วย” ชำนาญ กล่าว

depa พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนผู้ประกอบการในโครงการ “Empowering Tech Tourism”
ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า depa พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีทั้งเครื่องมือช่วยลดต้นทุน ทำการตลาด ร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ มีทีมผู้เชี่ยวชาญ ทีมผู้ประกอบการดิจิทัลที่พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนหนึ่งที่มีมาตรฐานขึ้นทะเบียนไว้แล้วไว้สำหรับแนะนำ ช่วยเหลือและร่วม Matching กับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นโรงแรม ร้านอาหาร สปาร้านนวดต่างๆผ่านระบบออนไลน์ที่เหมาะสมทุกๆ ขนาดธุรกิจของผู้ประกอบการในช่วง COVID-19 เช่น คอร์สออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะส่วนบุคคลและเสริมศักยภาพทางธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว อบรมการใช้แพลทฟอร์มช่องทางการทำการตลาดการท่องเที่ยวที่เหมาะสม สร้าง Story Telling ซึ่งเป็นการสร้าง Template Website เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบอกเล่าเรื่องราว Story ที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร อัตลักษณ์และกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆในพื้นที่ของผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการมีความน่าสนใจ และดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัป และผู้พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในธุรกิจท่องเที่ยว ต้องปรับตัวหลังจาก COVID-19 คือ การท่องเที่ยวที่จะนิยมท่องเที่ยวแบบเดี่ยวมากกว่าแบบกรุ๊ปทัวร์และพฤติกรรมต่างๆ ของนักเดินทางที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พักที่ต้องมีทางเลือกมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการในรูปแบบที่เน้นคุณค่าและบ่งบอก ลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น เช่น มีอินเทอร์เน็ตฟรีทุกพื้นที่ มีบริการที่เข้าถึงง่าย มีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศช่วยให้ฟื้นกลับในทิศทางที่ดีขึ้นอีกครั้ง

NIA นำนวัตกรรมที่ได้มาตรฐาน หนุนโครงการ “Empowering Tech Tourism”

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า NIA เข้ามาช่วยให้การดำเนินโครงการฯนี้ โดยรับรองนวัตกรรมที่ได้มาตรฐาน ทั้งที่เป็นดิจิทัล เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งของที่จับต้องได้ ซึ่งจะต้องมีความปลอดภัยสูงสุดในการนำไปใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยให้ผู้บริโภคนักท่องเที่ยวสามารถจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และตั๋วเข้าชมสถานที่ต่างๆ ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และแพลทฟอร์มต่างๆ ที่อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวกว่า 45% ใช้สมาร์ทโฟนดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับแผนท่องเที่ยว เพื่อให้กิจกรรมต่างๆมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยสมาร์ทโฟนเป็นโจทย์ที่ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางตอบสนอง เช่น ในระบบสายการบินที่ควรจะต้องมีบริการหรือแพลทฟอร์ม ที่ช่วยลดความยุ่งยากทางด้านเอกสาร บริการจองที่พักหรือร้านอาหารที่ต้องพัฒนาระบบจองคิว รวมทั้งแอปพลิเคชันนำเที่ยวที่ต้องมีการให้ข้อมูลเชิงลึกผ่านภาพ วิดีโอ หรือข้อความ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจได้ทันท่วงที ยิ่งเป็นการเข้าสู่การฝ่าฟัน COVID-19 ยิ่งต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย ปลอดเชื้อ และได้มาตรฐานสากลยอมรับมากขึ้น รองรับกลุ่มผู้บริโภคที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวต่างๆของประเทศไทย

TEDFund พร้อมนำสตาร์ทอัป – แพลทฟอร์ม ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “Empowering Tech Tourism”

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TEDFund) กล่าวว่า TEDFund เป็นกองทุนน้องใหม่อยู่ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมุ่งเน้นในการให้ทุนวิจัยแต่ นิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรี โทและเอก ในมหาวิทยาลัย เช่น ให้ทุนในระดับไอเดียสเตจ แล้วต่อยอดกับผู้ประกอบการที่สนใจแมชชิ่งร่วมกับนิสิตนักศึกษาที่อยากทำธุรกิจใหม่และอยากเป็นสตาร์ทอัปในพื้นที่ของตนเองในอนาคต เป็นต้น ขณะนี้มีนิสิตนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมกองทุนแล้วกว่า 100 คน ทำแพลตฟอร์มสตาร์ทอัป ทำการต่อยอดจากธุรกิจท่องเที่ยวของครอบครัว ช่วยเชื่อมโยงสตาร์ทอัปของแต่ละภูมิภาคเข้าด้วยกัน รวมทั้งเชื่อมโยงผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเองล่วงหน้ารอเวลาการเปิดประเทศแล้วนำข้อมูล นวัตกรรมที่มีไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ หากไม่เร่งสร้างสตาร์ทอัป การนำไปใช้ ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืนและเหมาะสมกับภาคการท่องเที่ยวแต่ละธุรกิจแล้วจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย

อยากให้ภาครัฐเปิดเวทีสร้างองค์ความรู้แลกเปลี่ยนกระตุ้นความต้องการของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้สร้างนวัตกรรม สตาร์ทอัปต่างๆที่เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปผลิตนวัตกรรม อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม ในราคาที่จับต้องได้ประยุกต์การใช้งานให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องครบวงจรทุกๆมิติอย่างยั่งยืน” ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ธนาคารกรุงเทพ พร้อมสนับสนุนเงินทุนกู้ในโครงการ “Empowering Tech Tourism”

ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพพร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวตามเงื่อนไขของธนาคารกำหนดทุกรูปแบบหลากหลายครบวงจรรับมือสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการนำวัคซีนฉีดให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง ในส่วนของการเสริมสภาพคล่องทางการเงินที่ธนาคารกรุงเทพจะมอบให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น สินเชื่อแก่สตาร์ทอัปด้านการท่องเที่ยวสินเชื่อแก่นวัตกรรมเทคโนโลยีและสินเชื่ออินโนเวชั่นที่สร้างพันธมิตรเครือข่ายนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้แนะนำทำช่องการตลาดสินเชื่อแนวใหม่ แนะนำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนเงินทุนระยะยาว เพื่อช่วยให้ลูกค้าปรับโครงสร้างธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีช่องทางการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลทุกรูปแบบ อีกทั้งมีการเชื่อมโยงกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการท่องเที่ยวกับกลุ่มพันธมิตรสถาบันการเงินของทางธนาคารกรุงเทพให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนเฉพาะการขยายธุรกิจ การปรับแนวทางทำธุรกิจออนไลน์ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นช่วยเพิ่มขีดความสามารถช่วยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ธนาคารกรุงเทพหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการร่วมสนับสนุนการเงินนำไปใช้เลือกสรรลงทุนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจของผู้ประกอบการ และพร้อมรับมือกับทุกๆสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ดร.เปาว์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save